“วราวุธ” เดินหน้าแก้วิกฤตโลกร้อน เร่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว มุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ
โพสเมื่อ : 8 ก.ค. 65 11:04:26
วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เป็นประธานเปิดกิจกรรม “เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดวิกฤตโลกร้อน สู่เมืองคาร์บอนต่ำ” ซึ่งจัดขึ้นโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กรมป่าไม้ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมด้วย นายเฉลิมชัย ปาปะทา อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนหน่วยงานในพื้นที่ ผู้แทนภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ และนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี ตลอดจนผู้แทนโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Youth Camp) รวมจำนวนกว่า 350 คน เข้าร่วมกิจกรรม ณ ห้องประชุมอาคารสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสุพรรณบุรี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี
นายวราวุธ เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่เป็นทางรอดเพียงทางเดียวที่เราจะรักษาโลกใบนี้ไว้ได้ “โลกวันนี้ ถ้าไม่มีมนุษย์ โลกอยู่ได้ แต่ถ้าไม่มีโลก มนุษย์ย่อมอยู่ไม่ได้” โดยกระทรวงฯ ได้ปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทยและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายใต้ NDC ให้สอดคล้องกับถ้อยแถลงของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ในที่ประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร โดยไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ได้พัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิต โดยจัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการสร้างตลาดคาร์บอนในประเทศไทยให้เกิดผลเป็นรูปธรรม รวมทั้งการออกระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนการซื้อการขายและถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต พ.ศ. 2565 และล่าสุด ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส Paris Agreement Article 6.2 ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส ซึ่งนับเป็นการลงนามข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตร่วมกันเป็นคู่แรกของโลก โดยเมื่อแลกคาร์บอนเครดิตแล้ว สิ่งที่ได้กลับมาจะเป็นเทคโนโลยี หรือเงินลงทุน ซึ่งมากกว่าปริมาณคาร์บอนที่เราปลดปล่อย ดังนั้น ประชาชนไม่ต้องกังวลว่า หากเราขายคาร์บอนเครดิตไปแล้วจะขาดทุน เพราะสิ่งที่ได้กลับมานั้นมากกว่าแน่นอน นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของประเทศให้ได้ร้อยละ 55 ตามที่กำหนดไว้ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ที่มีความพร้อมดำเนินการ ในปี 2565 ประมาณ 6 แสนไร่ รวมทั้งเร่งศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน หรือ CCUS อีกด้วย
สำหรับการจัดกิจกรรม “เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดวิกฤตโลกร้อน สู่เมืองคาร์บอนต่ำ” ในวันนี้ จัดขึ้นในเขตอำเภอบางปลาม้า เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน ชุมชน เยาวชน และนักเรียนนักศึกษา ได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดปัญหาโลกร้อน สู่เมืองคาร์บอนต่ำ ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในการจัดการขยะที่ต้นทางและการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง กิจกรรมภายในงาน ได้แก่ พิธีส่งมอบโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พิธีมอบเครื่องหมายเชิดชูเกียรติพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้แก่ผู้พิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ดีเด่นในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี พิธีมอบเกียรติบัตรแก่เยาวชนที่ผ่านโครงการผู้นำเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Youth Camp) การจัดแสดงนิทรรศการ และกิจกรรมปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว
ข่าวเด่นในกระทรวงอื่นๆ :