วันที่ 16 มีนาคม 2565 เวลา 10.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ในฐานะรองประธานกรรมการคนที่ 1 เข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (กนภ.) ครั้งที่ 1/2565 ณ ห้องประชุมมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด และผ่านระบบ VDO Conference พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ปกท.ทส.) โดยมี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นฝ่ายเลขานุการ
โดยการประชุมในวันนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยมีมติ ไม่ขัดข้องต่อการเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) ของประเทศไทย ซึ่งเป็นการแสดงถึงการมีส่วนร่วมหยุดยั้งการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของที่ดิน สร้างความสมดุลระหว่างการปล่อยและการดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และรักษาไว้ซึ่งการบริการของระบบนิเวศ โดยให้ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งมติ กนภ. ต่อฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เพื่อประกอบการพิจารณาการเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ก่อนที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านการขับเคลื่อนคาร์บอนเครดิตจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอนของประเทศ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เข้าไปสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ในปี ค.ศ. 2065 รวมทั้ง เห็นชอบ (ร่าง) แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเป็นการยกระดับให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย
อีกทั้ง ยังได้เห็นชอบ (ร่าง) ข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส โดยข้อตกลงดังกล่าวแสดงถึงความร่วมมือสองฝ่ายที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในบริบทของความตกลงปารีส ตลอดจน (ร่าง) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากต่างประเทศ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยระบบนิเวศในบริบทความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสาขาการจัดการน้ำในระดับพื้นที่ของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน และโครงการเสริมสร้างศักยภาพเชิงสถาบันและเชิงเทคนิคเพื่อดำเนินการตามกรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใสภายใต้ความตกลงปารีส ซึ่งจะเป็นการพัฒนากรอบการดำเนินงานด้านความโปร่งใสของประเทศ ให้เป็นไปตามข้อที่ 13 ของความตกลง