“วราวุธ” ย้ำ การพลิกฟื้นประเทศไทย ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และต้องร่วมคิด ร่วมทำ สร้างจุดเปลี่ยนไปส
โพสเมื่อ : 14 ม.ค. 65 13:36:57

วันที่ 13 มกราคม 2565 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) บันทึกเทป การปาฐกถาพิเศษ งานสัมมนาออนไลน์ “เปิดแผนพลิกฟื้นประเทศไทย” ณ ห้องประชุมชั้น 20 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เนื่องในวาระการก้าวเข้าสู่ปีที่ 72 ของหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน เพื่อเผยแพร่ในงานสัมมนาที่จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2565 เวลา 13.00 - 16.30 น. ผ่านทางเฟซบุ๊ก แฟนเพจ (Facebook Live) สยามรัฐ  

โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้เน้นย้ำถึงนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมหลังจากผลกระทบของ COVID-19 การพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยควบคู่ไปกับการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อสร้างสมดุลที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาในระดับโลก และโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ หรือ BCG Model ตามนโยบายรัฐบาล ได้แก่ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และวาระการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงฯ   

และประเด็นที่สำคัญนับจากนี้ คือ ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำตามที่นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุม COP26 โดยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 อาทิ การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนหรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ การเพิ่มการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ในสาขาป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน ภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ เป็นต้น

นอกจากนี้ ก้าวต่อไปของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังคงมุ่งไปสู่ Build forward Greener เพื่อสร้างโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมไทยควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย รมว.ทส. เน้นย้ำว่า การพลิกฟื้นประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จะไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการดำเนินงานของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม รวมถึงภาคประชาชน จะต้องเข้ามาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ร่วมกันรับผิดชอบ เพื่อให้เกิดจุดเปลี่ยนของสังคมไทย ปรับทิศทางไปสู่ “ชีวิตวิถีใหม่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”