นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นห่วงสุขภาพของประชาชนและพนักงาน เจ้าหน้าที่ กำชับให้ทุกหน่วยงานในสังกัด ทส. ดำเนินตามมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวด
วันนี้ (26 มีนาคม 2563) นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้ มีแนวโน้มการเพิ่มระดับความรุนแรงของการระบาดมากขึ้น โดยรัฐบาลได้ประกาศข้อกำหนดและข้อปฏิบัติตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (พ.ร.ก. ฉุกเฉิน) ฉบับที่ 1 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จากสถานการณ์ดังกล่าว นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตระหนักถึงปัญหาสำคัญดังกล่าว และมีความเป็นห่วงเป็นใยในสุขภาพของข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนี้
1. ในการปฏิบัติงานของข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ ขอให้พกบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐตลอดเวลา
2. การทำงานจากที่บ้าน work from home หากข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่คนใดที่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ ขอให้ทำงานประจำอยู่ที่บ้านทันที เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทั้งนี้ ขอให้หัวหน้าส่วนราชการกำกับดูแลแนวทางการ work from home ต้องมีการรายงานผลการทำงานที่ชัดเจน ให้มีผลผลิตการทำงานและมีประสิทธิภาพสูงสุด
3. ในส่วนของการทำงานตามภารกิจที่มีความสำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วน เช่น การดำเนินงานจัดการหมอกควัน ไฟป่า ขอให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ ตามแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอยู่ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเน้นด้านการสาธารณสุข
4. จัดตั้งศูนย์ โควิด-19 ประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อประสานงานศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินโควิด-19 (ศอฉ.-โควิด-19) ที่มีนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน
5. ให้ กรมป่าไม้ กรมอุทยาน แห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานในสังกัด ทส. ที่มีหน่วยงานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปิดการท่องเที่ยวและงดการเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดเตรียมรถบริการการพยาบาลฉุกเฉิน (Emergency) จำนวนทั้งสิ้น 95 คัน ซึ่งประจำอยู่ในอุทยานแห่งชาติต่างๆ ทั่วประเทศ ให้เตรียมความพร้อมของรถ อุปกรณ์ และเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ เตรียมพร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานของกระทรวงมหาดไทยเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่