ทส. ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ ๒/๒๕๖๐
โพสเมื่อ : 16 มิ.ย. 60 08:59:24

วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๐  คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ เพื่อพิจารณาท่าทีของราชอาณาจักรไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๑ ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ ๒ – ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ณ เมืองคราคูฟ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยวาระการประชุมที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรไทย ดังนี้ 
๑. วาระที่ 41COM 7B State of conservation of properties inscribed on the World Heritage List: รายงานสถานภาพการอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก จำนวน ๒ เรื่อง ได้แก่ พื้นที่กลุ่มป่าดงพญาเย็น –ขาใหญ่ และนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา 
๒. วาระที่ 41COM 8A Tentative Lists submitted by States Parties as of 15 April 2017: การรายงานข้อมูลแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่ขอบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ซึ่งจัดส่งก่อนวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๖๐ จำนวน ๑ เรื่อง ได้แก่ พระธาตุพนม กลุ่มสิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ และภูมิทัศน์ที่เกี่ยวข้อง 
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาเรื่องการนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก อีกทั้ง ที่ประชุมได้เห็นชอบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๑ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้เอกอัครราชทูตไทยประจำ กรุงปารีส เป็นหัวหน้าคณะ และเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นรองหัวหน้าคณะ
การประชุมในครั้งนี้  พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก ครั้งที่ ๒/๒๕๖๐ ณ ห้องประชุม ๔๐๑ ชั้น ๔ อาคารสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)  โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานคนที่ ๑ นายสุภาค โปร่งธุระ รองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นรองประธานคนที่ ๒ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานคนที่ ๓ พร้อมด้วย นายวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการ นางรวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมโดยพร้อมเพรียง