
ทส. ร่วมแถลงข่าวผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยอย่างยั่งยืน
โพสเมื่อ : 17 ก.พ. 58 09:18:08
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยนางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงข่าวผลการดำเนินงานRoadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตรายตามนโยบายรัฐบาล ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร
สืบเนื่องจากปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างที่กองทิ้งเป็นภูเขา มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมบ่อขยะ ที่แพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ และเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงประกาศให้ "ขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ” และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดทำ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เพื่อขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมดำเนินการ
โดยในโอกาสนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย บูรณาการการทำงานร่วมกันโดยสรุปผลความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้
1) การกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสม (ขยะมูลฝอยเก่า)
1.1) การกำจัดขยะมูลฝอยตำค้างสะสม ใน 6 จังหวัดวิกฤต ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สระบุรี ลพบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีผลการดำเนินงาน ดังนี้
- สามารถกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสม ใน 4 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สระบุรี และลพบุรี ได้จำนวน 130,635 ตัน คิดเป็นร้อยละ 14 จากจำนวนขยะมูลฝอยตกค้างสะสมรวม 907,000 ตัน
- สามารถกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสม ใน 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ ได้จำนวน 8,103,500 ต้น คิดเป็นร้อยละ 80 จากจำนวนขยะมูลฝอยตกค้างสะสมรวม 10,140,000 ตัน
1.2) การจัดการขยะมูลฝอยตกค้างสะสม อีก 71 จังหวัด มีแนวทางในการกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมด้วยการฝังกลบ โดยใช้ดินฝังกลบขยะมูลฝอยภายในพื้นที่ และปรับพื้นที่เพื่อรองรับขยะมูลฝอยใหม่ หรือ ขนย้ายขยะมูลฝอยไปกำจัดอย่างถูกต้องในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอื่น หรือร่วมกับเอกชนรื้อร่อนขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเป็นแท่งเชื้อเพลิง RDF ป้อนเข้าสู่เตาเผาปูนซีเมนต์ หรือ เตาเผาเพื่อผลิตพลังงาน
2) การวางแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยใหม่ (ควบคู่ไปกับการจัดการขยะมูลฝอยเก่า) โดยมีการดำเนินการดังนี้
2.1) ลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง จำนวน 98 แห่ง
2.2) มุ่งการคัดแยกขยะมูลฝอย การเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท การกำจัดขยะมูลฝอยแบบถูกต้อง
2.3) การจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวมและการรวมกลุ่มพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม (Cluster) แบ่งเป็น ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ (S M L) ตามปริมาณขยะมูลฝอยและรัศมีการเก็บรวบรวม ในเบื้องต้นแบ่งเป็น 246 กลุ่มพื้นที่ จำแนกเป็นขนาดใหญ่ 31 แห่ง ขนาดกลาง 142 แห่ง ขนาดเล็ก 73 แห่ง และ อีก 60 สถานีขนถ่าย
2.4) กำจัดขยะโดยใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานให้ความสำคัญกับการแปรรูปเป็นพลังงาน แปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า จำนวน 53 แห่ง โดยประมาณว่าจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้รวมทั้งสิ้น 227.58 เมกกะวัตต์ โดยผลการดำเนินงาน มีดังต่อไปนี้
- เปิดดำเนินการแล้ว 2 แห่ง คือ เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และ เทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า ได้ 25.7 เมกกะวัตร
- อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 3 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และเทศบาลตำบลแม่ขรี จังหวัดพัทลุง
- อยู่ระหว่างการลงนามในสัญญา/MOU จำนวน 2 แห่ง คือ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง จังหวัดระยอง
-อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม จำนวน 1 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน
-อยู่ระหว่างการเจรจา จำนวน 45 แห่ง ทั้งนี้ พื้นที่ 45 แห่ง ดังกล่าวอาจลดลง โดยเปลี่ยนเป็นสถานีขนถ่าย หรือ การผลิต RDF ตามความเหมาะสม
3) การวางระเบียบมาตรการการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยมีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ลดความซ้ำซ้อนและแก้ไขอุปสรรคในการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ง่ายต่อการบริหารจัดการในองค์รวมทั่วประเทศและเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะได้จัดทำกฎและระเบียบเกี่ยวกับการจัดการขยูลฝอยและของเสียอันตราย ดังนี้
3.1) กฎกระทรวงการคัดแยก เก็บขน และกำจัดมูลฝอย
3.2) กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป
3.3) กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียบการเก็บขนและกำจัดมูลฝอยตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535
3.4) ร่าง พระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะแห่งชาติ พ.ศ. ... (คาดว่าจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เดือนกรกฎาคม 2558) และร่าง พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. ... (คาดว่าจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเดือนเมษายน 2558)
ทั้งนี้ เพื่อสร้างวินัยของคนในชาติมุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กำหนดให้มีหลักสูตรการเรียนเกี่ยวกับการลด คัดแยกขยะมูลฝอย และการจัดการขยะมูลฝอย ตั้งแต่ระดับเยาวชน รวมทั้งส่งเสริมสถานศึกษาดำเนินกิจกรรมลด คัดแยก และนำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์
ข่าวเด่นในกระทรวงอื่นๆ :
