ทส. โดย อส.แถลงข่าวความคืบหน้าการตรวจสอบสาเหตุการตายของกระทิง
โพสเมื่อ : 12 มี.ค. 57 15:57:38

              เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2557 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารศูนย์ปฏิบัติการป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายนิพนธิ์ โชติบาล รองอธิบดี รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ร่วมกับ นพส.ปรีชา วงษ์วิจารณ์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ กรมปศุสัตว์ นพส.เบญจรงค์ สังขรักษ์ สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และ นสพ. ดร.วิทวัช วิริยะรัตน์ รองคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงข่าวความคืบหน้าการตายของกระทิงในพื้นที่โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพ ป่า บริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรีฯ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2556 จนถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2557 โดยพบซากกระทิงจำนวน 24 ตัว เป็นกระทิงเพศผู้ 14 ตัว เพศเมีย 8 ตัว ลูก 2 ตัว นั้น ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการและการระดมความคิดเห็นจากข้อมูลการตรวจพบของ สัตวแพทย์ทั้งสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติและมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า สาเหตุการตายของกระทิง พบเชื้อก่อโรค ดังนี้ 1) เชื้อคลอสตริเดียม โนวิอาย และ 2) สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย ในกระทิง จำนวน 1 ตัว (ตัวที่ 15)
                โอกาสนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชจัดทำมาตรการเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการตายของกระทิง และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ อีกทั้งจัดทำยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดังนี้
               1) มาตรเร่งด่วนเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการตายของกระทิง 
                   - กำหนดเขตกันชน (buffer zone) เพื่อป้องกันการระบาดของโรคสู่สัตว์ป่า   
                   - จำกัดการเข้าออกพื้นที่ โดยอนุญาตเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานเพื่อควบคุมและป้องกันโรค
                   - ทำความสะอาดฆ่าเชื้อในเสื้อผ้า รองเท้า และยานพาหนะ โดยการแช่น้ำยาฆ่าเชื้อก่อน เข้าและ ออกจากพื้นที่ ตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์
                   - ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญแก่ปศุสัตว์ในพื้นที่รอบแนวเขตป่าอนุรักษ์
                  - จัดเจ้าหน้าที่ลาดตระเวนติดตามกระทิงที่มีอาการป่วยในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้พบซากกระทิงที่ป่วยตายได้ทันท่วงที และสามารถแจ้งสัตวแพทย์เข้าดำเนินการชันสูตรและเก็บตัวอย่าง
               2) มาตรการระยะกลางและระยะยาวในการป้องกันการตายของสัตว์ป่า
                 
 - ตั้งคณะทำงานสำรวจติดตามประชากรกระทิง และสัตว์ป่าชนิดอื่นในพื้นที่ และคณะทำงานติดตามสุขภาพสัตว์ในพื้นที่ป่ากุยบุรี เพื่อทำการเก็บตัวอย่างเลือดและสารคัดหลั่งเพื่อตรวจสุขภาพสัตว์ป่า

                  - กำหนดมาตรการในการควบคุมด้านสุขาภิบาลในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี เช่น ให้มีบ่อสำหรับฆ่าเชื้อที่ยานพาหนะ และอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่
                  - กำหนดมาตรการในการปล่อยสัตว์คืนสู่ธรรมชาติและการปลูกพืชต่างถิ่นในพื้นที่ตามหลักวิชาการอย่างเข้มงวด
                  - พัฒนาระบบสำรวจและเฝ้าระวังโรคติดต่อที่สำคัญในสัตว์ป่าและปศุสัตว์ที่มีแนว เขตติดต่อกับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น การส่งสัตวแพทย์ตรวจสอบอาการ และสุขภาพสัตว์เลี้ยง / สัตว์ป่าอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
                  - มีการจัดระบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์มิให้มีผลกระทบต่อนิเวศวิทยา และพฤติกรรมของ สัตว์ป่าในพื้นที่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ชุมชนโดยรอบและนักท่องเที่ยวในด้าน สุขอนามัย และการป้องกันโรคติดต่อในสัตว์และคน
               3) จัดตั้งสถาบันสุขภาพสัตว์ป่าแห่งชาติ  เพื่อเสริมสร้างให้มาตรการในการป้องกันและควบคุมโรคในสัตว์ป่ามีประสิทธิภาพ