รมว.ทส. สั่งเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ หมอกควัน ให้ ๙ จังหวัดภาคเหนือจัดการเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
โพสเมื่อ : 20 ธ.ค. 56 11:04:34

 










                      เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2556 ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ต.แม่เหียะ อ.เมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาค เหนือ 9 จังหวัด ปี 2557 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการจากส่วนกลางคือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และผู้ว่าราชการจาก 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน และตาก เข้าร่วมประชุม และได้เป็นสักขีพยานในการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ "รวมพลัง 9 จังหวัด ลดไฟป่า ลดหมอกควัน” ระหว่างปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัด
                     รมว.ทส. กล่าวว่า ในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน พื้นที่ภาคเหนือ 9 จังหวัด รวม 832 ตำบล มักประสบกับปัญหาหมอกควัน สาเหตุหลักเกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร การเผาวัชพืชริมทาง ไฟป่า และการเผาในชุมชน ก่อให้เกิดหมอกควัน ฝุ่นละออง เถ้า เขม่าควัน ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแอ่งกระทะ และสภาวะอากาศที่แห้งและนิ่ง ทำให้ฝุ่นละอองแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยของประชาชน บดบังทัศนวิสัย และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และในช่วงเวลาเดียวกัน ยังเพิ่มขึ้นของจุดความร้อนในอนุภูมิภาคแม่โขงซึ่งเป็นสาเหตุหลักของมลพิษ หมอกควันข้ามแดน จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศโดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุม มลพิษ พบว่าในพื้นที่ภาคเหนือปี 2556 ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน โดยมีค่าอยู่ในระดับเกินเกณฑ์มาตรฐานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ที่กำหนดไว้ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จำนวน 46 วัน ซึ่งเป็นระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยในช่วงวันที่ 21 มกราคม ถึง 30 เมษายน พบจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ โรคตาอักเสบ และผิวหนังอักเสบ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน และลำพูน จำนวน 3 แสนคน จากประชากร 2.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 10 นอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่อการขนส่งทางอากาศ มีการยกเลิกเที่ยวบินจำนวน 158 เที่ยวบินในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
                ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมี ประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้มีนโยบายให้จังหวัดบริหาร จัดการแบบเบ็ดเสร็จ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจสูงสุดในการควบคุม สั่งการ และบัญชาการหน่วยงานในพื้นที่ โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทา สาธารณภัย จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีการทำงานที่เป็นหนึ่งเดียว นอกจากนี้ยังเน้นในเรื่องการป้องกันเชิงรุก โดยให้จังหวัดกำหนดช่วงเวลาวิฤตหมอกควันในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ให้มีการจัดการเชื้อเพลิงให้แล้วเสร็จก่อนช่วงวิกฤตหมอกควัน (กุมภาพันธ์ ถึง เมษายน) รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา และให้มีการจัดการพื้นที่เสี่ยงอย่างเข้มข้น โดยให้จังหวัดกำหนดและดำเนินมาตรการป้องกันเชิงรุกไม่ให้เกิดการเผาใน พื้นที่เสี่ยงอย่างเข้มข้น ซึ่งในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ก็จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแนวกันไฟ จัดการเชื้อเพลิง เฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่า เตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องมือ/อุปกรณ์ดับไฟป่า และเตรียมพร้อมให้การสนับสนุนกับจังหวัดในการออกปฏิบัติการในกรณีเกิดเหตุ ด้านกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทหลักในการเสริมสร้างความรู้ในการ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับกลุ่มเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เผาเพื่อลดและควบคุมการเผาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษจะมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบ ประมวลข้อมูลคุณภาพอากาศเพื่อรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันให้ จังหวัดใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
                  ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ประสานความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อการสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอก ควันใน 9 จังหวัดภาคเหนือด้วย
                  ต่อมาในภาคบ่าย ยังได้มีการจัดงานโครงการวันรณรงค์ "ไม่เผาป่า ลดหมอกควัน” โดยนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบอุปกรณ์ดับไฟป่าให้แก่ผู้แทนหมู่บ้านที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าใน พื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ มอบเตาเผาขยะชีวมวล ไร้ควันให้กับเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่ บ้าน (ทสม.) และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อใช้ในการกำจัดขยะในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หลังจากนั้นได้เป็นประธานนำกล่าวคำปฏิญาณ ไม่เผาป่า โดยมีกลุ่มพลังมวลชนกว่า 2,000 คน ร่วมกล่าวคำปฏิญาณ และชมการสาธิตการดับไฟป่าตามแผนระดมพลดับไฟป่าด้วย