
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2556 เวลา 14.00 น. นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมกรมทรัพยากรธรณี มอบนโยบายให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ต้องดำเนินงานด้วยความรวดเร็ว โปร่งใสและตรวจสอบได้ เน้นการบริหารจัดการ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ ด้านธรณีพิบัติภัย ด้านแหล่งแร่ ด้านพิพิธภัณฑ์ และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน
นายวิเชษฐ์ ได้มอบนโยบายหลักของการทำงานต่อข้าราชการว่า ต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมาย เป็นธรรม ชัดเจน ตรวจสอบได้ ประสานการทำงานร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน บริหารงบประมาณด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารงานทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต อาทิ นโยบายการจัดทำ War Room เพื่อผนวกการทำงานร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัยเพื่อประกาศเตือนภัย ให้ประชาชนรับทราบอย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากภัยพิบัติได้อย่างมหาศาล
รมว.ทส. ได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารกรมทรัพยากรธรณีใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ ด้านธรณีพิบัติภัย ด้านแหล่งแร่ ด้านพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แก้ปัญหาและร่วมกันทำการวิจัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ด้านธรณีพิบัติภัย รมว.ทส. "สนองพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกทั่วประเทศ เพื่อป้องกันดินถล่ม” และสั่งการให้ติดตาม เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในพื้นที่เสี่ยงหลุมยุบ ตลิ่งทรุดตัวหรือตลิ่งพัง น้ำป่าไหลหลาก สึนามิ โดยเฉพาะรอยเลื่อนหลักของประเทศทั้ง 13 แนวเพื่อให้ทราบสถานการณ์แผ่นดินไหวของประเทศอย่างทันเหตุการณ์ รวมถึง การให้ความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่อาจได้รับผลกระทบ และประเทศที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญมากกว่าไทย
ด้านแหล่งแร่ของประเทศ ส่งเสริมให้จัดทำแผนที่ธรณีวิทยา มาตราส่วน 1:50,000 ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยให้สำรวจศักยภาพแหล่งแร่ที่มีความต้องการสูง แร่เชิงเศรษฐกิจ ความเหมาะสมของการนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยต้องพิจารณาถึงกระบวนการและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน เกษตรกรรม ป่าไม้
ส่วนด้านพิพิธภัณฑ์ซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งสามารถพัฒนาเพิ่มมูลค่าและสร้างการมี ส่วนร่วมของชุมชน โรงเรียนในพื้นที่ทั้งการจัดกิจกรรมและให้บริการ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้เข้าชม เช่น จัดอบรมมัคคุเทศก์น้อยให้บริการนำชมพิพิธภัณฑ์ เพิ่มช่องทางเผยแพร่ความรู้ ข่าวสาร ผ่านเว็บไซด์และเว็บแคม บริการภาพถ่ายและ Download ได้ฟรีจากเว็บไซด์ นอกจากนี้ ส่งเสริมให้พัฒนาอุทยานธรณีวิทยา (Geopark) และศูนย์เรียนรู้ธรณีวิทยาของประเทศให้ทันสมัย
และในด้านการวิจัยแบบบูรณาการ ให้ กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทำการศึกษาวิจัย แก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนน้ำ ปรับปรุงคุณภาพน้ำกร่อย และปัญหาดินเค็มโดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึง ศึกษาแหล่งธรณีวิทยาเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ทำสปาจากโคลนพุ ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง อีกทั้ง ให้สร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งกันและกัน
นายวิเชษฐ์ ทิ้งท้ายนโยบายด้วยการจัดทำโครงการรางวัล "ดวงใจสีเขียว" เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน ตัวบุคคล ชุมชนและในระดับองค์กร ร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ สานต่อเจตนารมณ์ "สืบ นาคะเสถียร" และย้ำให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงต้องทำงาน ตามแนวความคิด "ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู” ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปรียบเสมือนตราสัญลักษณ์ของกรมทรัพยากรธรณีที่หมายถึง วิทยาการด้านเครื่องจักรกล ธรณีวิทยา เพื่อการสนับสนุนกิจการเหมืองแร่ ซึ่งมีองค์ประกอบในตราสัญลักษณ์ คือ เฟือง ค้อน และพลั่ว
