
นายวิเชษฐ์ ได้มอบนโยบายในเรื่องหลักการทำงานของข้าราชการว่า ต้องทำงานด้วยความโปร่งใส ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบตามกฎหมาย เป็นธรรม ชัดเจน ตรวจสอบได้ ผสานการทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยไม่แบ่งแยกหน่วยงาน บริหารงบประมาณด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารงาน เช่น จัดทำ War Room เพื่อบริหารงานทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ฯลฯ
ในเรื่องของการบริหารจัดการด้านมลพิษสิ่งแวดล้อม ต้องมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ เพื่อแก้ไขปัญหา โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลังในการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อลดการใช้สินค้าหรือบริการที่ส่ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการบำบัดมลพิษนั้น เช่น มลพิษทางน้ำ อากาศ เป็นต้น รวมถึงประสานความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวด ล้อมอย่างยั่งยืน และส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านมลพิษต่อสาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่น แหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยใช้ระบบติดตามและตรวจสอบมลพิษตามมาตรฐานสากล อีกทั้ง ในส่วนพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษแล้ว ควรทบทวนสภาวะปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วด้วย
นายวิเชษฐ์ ยังได้ให้นโยบายการบริหารจัดการด้านมลพิษ โดยครอบคลุมด้านต่างๆ ที่สำคัญดังนี้
- การจัดการขยะ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากขยะและลดปริมาณ ขยะด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ ร่วมกับกระทรวงพลังงานและกระทรวงเกษตรฯ ในการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเพื่อใช้ในครัวเรือน การผลิตไฟฟ้าชีวมวลขนาดเล็กจากขยะ การผลิตปุ๋ยชีวภาพ เป็นต้น รวมถึงรณรงค์และสร้างมาตรการจูงใจในการแยกขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่าน แบตเตอรี่มือถือ โทรทัศน์รุ่นเก่า ฯลฯ เพื่อกำจัดอย่างถูกวิธี และผลักดันให้เกิดศูนย์การจัดการกากของเสียแบบครบวงจร
- การกำจัดน้ำเสีย ต้องสร้างระบบการจัดการน้ำเสียในระดับท้องถิ่น โดยให้ครอบคลุมชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง และบริหารจัดการน้ำเสียในระดับลุ่มน้ำ โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองทุนสิ่งแวดล้อม ฯลฯ นอกจากนี้ ยังให้กรมฯ ไปพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ "ผู้ควบคุมหรือรับจ้างให้บริการบำบัดน้ำเสียหรือกำจัดของเสีย” ตามมาตรา 73 ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
- มลพิษทางอากาศและเสียง ให้มีการกำกับดูแลปัญหามลพิษทางอากาศในพื้นที่วิกฤตให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่น และพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เหมาะ สมใน แต่ละพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีนโยบายให้กรมฯ สนับสนุนและให้ความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันมลพิษทางอากาศภายใน ภูมิภาคด้วย
นายวิเชษฐ์ได้เน้นย้ำนโยบายให้กรมฯ สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยที่ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ และสังคม สามารถนำไปต่อยอดและแก้ไขปัญหาของชุมชนได้อย่างแท้จริง อีกทั้ง ส่งเสริมให้มีการบูรณาการงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ในการกำหนดกลยุทธ์ ทิศทางงานวิจัยให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน และเป็นการบริหารงบประมาณร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ในช่วงท้าย นายวิเชษฐ์ ยังมีนโยบายจัดทำ โครงการรางวัล "ดวงใจสีเขียว" เพื่อส่งเสริมให้เยาวชน ตัวบุคคล ชุมชนและในระดับองค์กร ร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ สานต่อเจตนารมณ์ "สืบ นาคะเสียร" และย้ำให้ทุกหน่วยงานในกระทรวงต้องทำงาน ตามแนวความคิด "ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู” ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปรียบเสมือนตราสัญลักษณ์ของกรมฯ เส้นโค้งสีน้ำเงิน หมายถึง ฟ้าที่สวยงาม อากาศที่สดชื่น เส้นโค้งสีฟ้า หมายถึง ความร่วมมือร่วมใจของประชาชนกับกรมฯ ร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษต่างๆ ให้หมดไป ต้นไม้สีเขียว หมายถึง คุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่ดี อันเกิดจากการควบคุมมลพิษ เส้นตรงสีเขียว หมายถึง สภาพแวดล้อมใกล้ตัวเรา เช่น ดิน เส้นตรงสีฟ้า หมายถึง น้ำ มีคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เกิดจากความเจริญก้าวหน้าของกรมฯ ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสภาพแวดล้อม สีน้ำเงิน หมายถึง ฟ้าที่สดใส สีฟ้า หมายถึง สิ่งแวดล้อมที่ดี และ สีเขียว หมายถึง ความรับผิดชอบของกรมควบคุมมลพิษ
