
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 ณ ห้องประชุม 202 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบนโยบาย การดำเนินงานแก่ผู้บริหารระดับหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชนในสังกัดกระทรวงฯ โดยแบ่งเป็น 4 แนวทางหลัก ได้แก่ 1) Quick, Clear & Clean: รวดเร็ว โปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ ทั้งงานวิชาการและเงินงบประมาณ 2) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศ 3) ความร่วมมือกับต่างประเทศ และ 4) การเตรียมรับมือภัยพิบัติ โดยทุกหน่วยงานจะต้องทำงานร่วมกัน เป็นหนึ่งเดียว เพื่อดูแลรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติ พัฒนาและสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี สู่การเป็นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงนโยบายการทำงานเชิงรุกดังกล่าวว่า ข้าราชการจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว โปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ ทั้งด้านวิชาการและเงินงบประมาณ โดยในส่วนของการใช้เงินงบประมาณใน 3 เดือนที่เหลือของปีงบประมาณนี้ ให้สรุปและจำแนกปัญหาการใช้งบประมาณที่ล่าช้า พร้อมแนวทางแก้ไข เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้มีการเร่งรัดการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม และวางแผนงานของปีงบประมาณ 2557 โดยจะมีการกำหนดตัวชี้วัดในการทำงานเพื่อประเมินผลการปฏิบัติงานโดยผู้ บริหารระดับสูงของกระทรวงผ่านภาพถ่ายดาวเทียม ทุก 3 เดือน ที่ต้องแสดงให้เห็นถึงทรัพยากรธรรมชาติดีขึ้น สวยงามขึ้น หรือมีปริมาณเพิ่มขึ้น ทางด้านสิ่งแวดล้อม/ป่าไม้/ทรัพยากรน้ำ/ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
ในส่วนของการบริหารจัดการงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องให้ภาคประชาสังคม
เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของร่วมกับภาครัฐ โดยยังคงให้ความสำคัญกับประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นแกนกลางของการอนุรักษ์ เช่น การบวชป่า, สืบชะตาสายน้ำ, เครือข่ายป่าชุมชน และเครือข่ายลุ่มน้ำ เป็นต้น โดยมีมิติของการอนุรักษ์ เพื่อให้มีทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนไม่ สร้างภาระให้คนรุ่นต่อไป ที่ต้องคำนึงถึง 3 เรื่องได้แก่ คน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยกระทรวงจะพิจารณาด้านกฎหมายของกรมที่เกี่ยวข้อง ให้มีความชัดเจน ทันเหตุการณ์และความเหมาะสม โดยเฉพาะของกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เช่น เกี่ยวกับการสร้างที่พัก รีสอร์ท
ด้านบทบาทความร่วมมือที่สำคัญกับต่างประเทศ จะจัดทำแนวทางที่ชัดเจนในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ก๊าซเรือนกระจก อีกทั้ง เตรียมความพร้อมศึกษาผลกระทบและแนวทางในการจัดการรองรับการเข้าร่วม AEC และอีกหนึ่งแนวทางหลักที่สำคัญ คือ การเตรียมรับมือภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง หรือ ไฟป่า โดยกระทรวงส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือเพื่อเตือนภัยให้ ประชาชนได้รับทราบ เช่น ธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี ระบบเตือนภัยแบบบูรณาการของกรมทรัพยากรน้ำ
ทั้งนี้ในช่วงท้าย นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เน้นย้ำนโยบายเพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วน 3 ข้อ คือ
1) การวางระบบแจ้งเตือนและป้องกันภัยพิบัติโดยใช้ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร แจ้งเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า
2) การจัดการปัญหาการบุกรุกเข้าครอบครองพื้นที่ป่า เขตอุทยานของนายทุนผู้ประกอบการและการทุจริตคอร์รัปชั่น
3) การสร้างระบบการทำงานอย่างใกล้ชิดระหว่างกระทรวงกับภาคประชาสังคม อาทิ องค์กรชาวบ้าน องค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งระดับชาติและนานาชาติ โดยเปิดให้ภาคประชาชนเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ รักษา และใช้ประโยชน์
