ทส. เผยความคืบหน้าในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ขิง – ข่า โลกครั้งที่ 7
โพสเมื่อ : 26 ก.พ. 56 14:53:07

         เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 นายปิยเกษตร สุขสถาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาปลูกบำรุง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีแถลงข่าวประจำสัปดาห์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เรื่อง ความคืบหน้าในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ขิง – ข่า โลก ครั้งที่ 7 และ การดำเนินการอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยสู่ความยั่งยืนขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ณ ห้องประชุม 301 อาคารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร

          นายปิยเกษตร สุขสถาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาปลูกบำรุง องค์การสวนพฤกษศาสตร์ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย องค์การสวนพฤกษศาสตร์ (อ.ส.พ.) ได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมขิง-ข่าโลก ครั้งที่ 7 (7th International Symposium on Family Zingiberaceae) จากมติที่ประชุมขิง – ข่า โลก ครั้งที่ 6 ณ ประเทศอินเดียที่ผ่านมาเนื่องจากประเทศไทยมีขิง-ข่า พื้นเมืองอยู่มากกว่า 300 ชนิด ใน 26 สกุล นั้น โดยความคืบหน้าในการเตรียมการจัดประชุมฯ ขณะนี้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ กำลังดำเนินการกำหนดหัวข้อในการจัดประชุมฯ อีกทั้งกำลังดำเนินการประสานความร่วมมือหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย เจ้าของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง นักเรียน นักศึกษาทั้งในและต่างประเทศกว่า 10 ประเทศเข้าร่วมนำเสนอผลงานในการประชุม ซึ่งคาดว่าจะจัดประชุมฯ ได้ช่วงเดือน สิงหาคม 2558  ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยกิจกรรมภายในที่จะจัดขึ้นแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้
         1. การประชุมวิชาการ ด้านอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา พฤกษศาสตร์ท้องถิ่น สมุนไพร เภสัชศาสตร์ พืชสวน การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนของพืชอันดับขิง-ข่า
         2. การเปิดสวนรวบรวมพันธุ์พืชอันดับขิง-ข่า เช่น ขิง-ข่า คล้า กล้วย เอื้องหมายนา ปักษาสวรรค์ พุทธรักษา
         3. การนำเสนอนิทรรศการวิชาการและการออกร้านของชุมชน ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง
         4. การทัศนศึกษาดูงานการผลิตในฟาร์มเกษตรกรและผู้ประกอบการ
        สำหรับ การดำเนินการอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยสู่ความยั่งยืนขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ นั้น นายปิยเกษตร เปิดเผยว่า ประเทศไทยจัดว่าเป็นศูนย์กลางการกระจายพรรณพืช ที่หลากหลายที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีกล้วยไม้ป่าที่ความสวยงามและทรงคุณค่านานาชนิด ขึ้นกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยปัจจุบันกล้วยไม้ไทยที่นักพฤกษศาสตร์ได้สำรวจพบแล้ว ถึง 176 สกุล รวมกว่า 1,200 ชนิด แต่สถานภาพของกล้วยไม้เหล่านั้นที่ขึ้นอยู่ในสภาพธรรมชาติต้องเผชิญ กับสภาพวิกฤต ด้วยป่าอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยถูกบุกรุกแผ้วถางไปเป็นจำนวนมาก กล้วยไม้ป่าที่มีความสวยงามหลายชนิดถูกนำออกจากป่า ทำให้จำนวนกล้วยไม้ในสภาพป่าธรรมชาติลดลงอย่างต่อเนื่อง 
        กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้คำนึงถึงความสำคัญและปัญหาที่เกิดขึ้นของกล้วยไม้ไทยในสภาพป่าปัจจุบัน ด้วยภารกิจในการรวบรวมทรัพยากรพรรณพืช เพื่อการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ในด้านต่างๆ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ จึงได้รวบรวม ศึกษาเก็บข้อมูล และอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ไว้กว่า 400 ชนิดโดยมีการนำกล้วยไม้ที่เสี่ยงต่อการถูกคุกคามและใกล้ที่จะสูญพันธุ์ มาขยายพันธุ์ในสภาพปลอดเชื้อ อาทิ ฟ้ามุ่ย รองเท้านารี เอื้องแซะหอม เอื้องผึ้ง เอื้องคำ และช้างแดง เป็นต้น
       นอกจากนี้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ได้เล็งเห็นว่าการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน ต้องมีชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งได้ดำเนินการในพื้นที่หมู่บ้านปงไคร้ หรือ หมู่บ้านฟ้ามุ่ย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 โดยมีการถ่ายทอดคฟวามรู้ให้กับชุมชนในพื้นที่ใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยของกล้วย ไม้ป่า ให้เห็นความสำคัญและเข้าใจในการอนุรักษ์กล้วยไม้อย่างถูกต้องมีการส่งเสริม ให้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้ที่ได้จากการเพาะเมล็ดภายในชุมชน แทนการนำต้นพันธุ์ออกจากสภาพป่าธรรมชาติ เพื่อลดจำนวนการนำกล้วยไม้ออกจากป่า อีกทั้ง ส่งเสริม ให้ชุมชนเกิดรายได้จากการจำหน่ายพันธุ์กล้วยไม้ อีกด้วย
       ทั้งนี้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ยังได้รวบรวมความเป็นที่สุดของกล้วยไม้ที่น่าสนใจ ภายใน สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ อาทิ ว่านเพชรหึง กล้วยไม้ที่มีลำต้นใหญ่ที่สุด สิงโตไข่ปลา กล้วยไม้ที่มีลำต้นขนาดเล็กที่สุด วานิลา กล้วยไม้ที่มีลำยาวที่สุด และ หนวดพราหมณ์บอเนียว กล้วยไม้ที่มีใบยาวที่สุด อีกทั้งยังได้พบความแปลก ของกล้วยไม้ อาทิ พญาไร้ใบ กล้วยไม้ที่ไม่มีใบใช้รากในการสังเคราะห์แสงเพื่อสร้างอาหารแทน และ นกคุ้มไฟ เป็นกล้วยไม้ที่มีใบเป็นลายแวววาวเมื่อต้องกับแสงแดด เป็นต้น
      โอกาสนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ขอเชิญชวนผู้สนใจ ร่วมการประชุมขิง-ข่าโลก ครั้งที่ 7 (7th International Symposium on Family Zingiberaceae) และ เข้ามาเรียนรู้และสัมผัสคุณค่าความงดงามแห่งกล้วยไม้ พร้อมทั้งพักผ่อนหย่อนใจท่ามกลางป่าธรรมชาติที่สวยงาม แวดล้อมด้วยขุนเขาและสีสันแห่งพรรณไม้ไทย ณ สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ส่วนสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ โทรศัพท์ 05-384-1234 และ www.qsbg.org
ข่าวกระทรวง >> แถลงข่าวกระทรวง
ทส. เผยความคืบหน้าในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ขิง – ข่า โลกครั้งที่ 7 และการอนุรักษ์กล้วยไม้ไทยสู่ความยั่งยืน
วันที่ 7 ก.พ. 2556