ทส. ร่วมประชุมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ 9 จังหวัด
โพสเมื่อ : 23 ม.ค. 56 09:38:54

         

             เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2556 ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วยนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการและผู้ว่าราชการจังหวัด 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และตาก เพื่อบูรณาการแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันพร้อมกำชับให้นำมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางสังคมคุมเข้มห้ามประชาชนจุดไฟเผาในพื้นที่ชุมชน พื้นที่เกษตรกรรม และพื้นที่ป่าไม้โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ในการประชุมครั้งนี้ นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงฯ เข้าร่วมประชุมด้วย 

            สำหรับนโยบายตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด ปี 2556 ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีดังนี้ 
            มาตรการที่ 1 ควบคุมการเผา ช่วง "80 วันอันตราย” (21 มกราคม – 10 เมษายน 2556) โดยให้จังหวัดออกประกาศและ อปท. ออกข้อบัญญัติควบคุมการเผาทุกพื้นที่ "ช่วง 80 วันอันตราย” หากมีความจำเป็นต้องเผาต้องขออนุญาตก่อนดำเนินการ และให้ทุกหน่วยงานดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบเผา จนเป็นเหตุให้ไฟลุกลามไปยังพื้นที่อื่นหรือลุกลามเข้าไปในเขตป่าโดยเฉียบขาด 
           มาตรการที่ 2 ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าอย่างเข้มข้น โดยให้มีการจัดทำแนวกันไฟ จัดการเชื้อเพลิง จัดตั้งและขยายเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า ก่อน 21 มกราคม 2556 จัดกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์และกิจกรรมเสวนา และเตรียมความพร้อมบุคลากร อุปกรณ์เครื่องมือในการปฏิบัติงานดับไฟป่า รวมถึง ระดมกำลังเพิ่มหน่วยลาดตระเวนและหน่วยดับไฟป่าเคลื่อนที่ 
           มาตรการที่ 3 สนับสนุน "ชุมชนมาตรฐาน หมู่บ้านปลอดการเผา” โดยให้จังหวัดร่วมกับ อำเภอ และ อปท. ดำเนินการสนับสนุน "ชุมชนมาตรฐาน หมู่บ้านปลอดการเผา” ให้แก่หมู่บ้านเสี่ยงในการจัดทำและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันจากไฟป่าและการเผาในที่โล่ง” 
           มาตรการที่ 4 ส่งเสริมภาคเอกชนและภาคีเครือข่ายเข้าร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควัน โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ในการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควัน โดยระดมสรรพกำลังภาคีเครือข่ายในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อลดการเผาและร่วมกับหมู่บ้านจัดทำแผนปฏิบัติการชุมชนฯ และขอความร่วมมือในการเฝ้าระวัง ลาดตระเวน และดับไฟป่า รวมถึงการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสุขภาพอนามัยของประชาชน 
          มาตรการที่ 5 สื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกสู่กลุ่มเป้าหมาย โดยสื่อสารประชาสัมพันธ์ช่วงเกิดเหตุ ระหว่างเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ การประชาสัมพันธ์ระดับประเทศ ระดับจังหวัด ระดับชุมชน และระดับครัวเรือน ใช้กลยุทธ์เคาะประตูบ้าน ในการให้ความรู้และขอความร่วมมือในการร่วมกันป้องกันปัญหาหมอกควัน 
          มาตรการที่ 6 แจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควัน โดยประมวลผลข้อมูลคุณภาพอากาศ ปริมาณฝุ่นละออง จำนวนจุดความร้อน ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา และแจ้งเตือนสถานการณ์หมอกควันตามระดับความรุนแรง ของปริมาณฝุ่นละออง 4 ระดับ ดังนี้ ระดับที่ 1 เฝ้าระวังหมอกควัน (ฝุ่นเกิน 80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ระดับที่ 2 หมอกควันรุนแรง (ฝุ่นเกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ระดับที่ 3 หมอกควันอันตราย (ฝุ่นเกิน 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ระดับที่ 4 วิกฤตหมอกควัน (ฝุ่นเกิน 350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) รวมทั้ง ให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนทราบเมื่อสถานการณ์เข้าสู่สภาวะปกติ
         มาตรการที่ 7 ขยายความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อลดปัญหาหมอกควันข้ามแดน โดยให้มีการเจรจาในระดับพื้นที่ชายแดนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหภาพเมียนมาร์ ในการควบคุมการเผาบริเวณพื้นที่ชายแดน พัฒนาศักยภาพในการแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดนให้แก่ประเทศอาเซียน และมอบสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศให้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว รวมทั้งประสานกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียนให้ดำเนินมาตรการลดและควบคุมการเผาเพื่อลดหมอกควันข้ามแดน 
        มาตรการที่ 8 จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด (ศปม.) โดยให้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันภาคเหนือ 9 จังหวัด โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานร่วม และจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล