กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรธรณี แถลงข่าว " กรณีแผ่นดินไหวในพม่า 6.8 ริกเตอร์ ” พร้อมบูรณาการ 6 หน่วยงานต้านแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2555 ณ ห้องประชุมศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ชั้น 2 อาคารกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน เรื่อง "กรณีแผ่นดินไหว ในพม่า 6.8 ริกเตอร์ ” โดยมี นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ประธานในการแถลงข่าว พร้อมด้วย นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อม นายประณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ตลอดจน ผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา ผู้แทนจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ผู้แทนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้แทนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมบรรยาย เรื่อง " แผ่นดินไหวในพม่า....ความพร้อม ของหน่วยงานไทย ” ในโอกาสนี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมสำรวจธรณีสหรัฐ : USGS ได้รายงานสถานการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.8 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางแรงสั่นสะเทือนอยู่ที่บริเวณสหภาพพม่าห่างจากเมือง Shwebo ไปทาง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 56 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2555 เวลา 08.12 น. และหลังจากนั้น ได้เกิดแผ่นดินไหวตามมา (Aftershock) ที่มีขนาดตั้งแต่ 5.0 ริกเตอร์ขึ้นไป จำนวน 5 ครั้ง (ข้อมูลถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 เวลา 08.30 น.) โดยแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหาย ต่อชีวิตและทรัพย์สิน ในสหภาพพม่าเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ประเทศไทย ยังสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน ในพื้นที่ภาคเหนือ อาคารสูงในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี และกรุงเทพมหานคร
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เล็งเห็นถึงความสำคัญของเหตุการณ์แผ่นดินไหว จึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านแผ่นดินไหว 6 หน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมและซักซ้อม รับมือกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทั้ง 3 ระยะ คือ ระยะก่อนเกิดแผ่นดินไหว ระยะระหว่างเกิดแผ่นดินไหว และระยะหลังเกิดแผ่นดินไหว ดังนี้
1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมทรัพยากรธรณี มีภารกิจหลักด้านสำรวจ รอยเลื่อนมีพลัง ประเมินความเสี่ยงภัยของพื้นที่ และประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความรู้สู่ประชาชน ทั้งนี้ในช่วง ระหว่างปี พ.ศ. 2528 – 2555 กรมทรัพยากรธรณี ได้ดำเนินการสำรวจรอยเลื่อนมีพลังในประเทศ อย่างเป็นระบบในระดับมหภาคครอบคลุมทั้งประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีรอยเลื่อนกระจายตัวส่วนใหญ่ อยู่ที่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ จำนวน 14 กลุ่มรอยเลื่อนที่พาดผ่านพื้นที่ต่างๆ ใน 21 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ พังงา สุราษฎร์ธานี กระบี่ เพชรบูรณ์
2. กรมอุตุนิยมวิทยา มีภารกิจหลักด้านพัฒนาระบบตรวจวัดแผ่นดินไหว ติดตั้งเครื่องมือวัดอัตราการเร่งของพื้นดิน จัดทำฐานข้อมูลแผ่นดินไหว แจ้งเหตุแผ่นดินไหว และประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความรู้สู่ประชาชน
3. ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ มีภารกิจหลักด้านแจ้งเตือนสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหว
4. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มีภารกิจหลักด้านจัดทำแผน ฝึกซ้อมแผนจัดระบบสื่อสาร ฝึกอบรมอาสาสมัคร อพยพประชาชน ช่วยเหลือผู้ประสบภัย จัดสถานที่พักชั่วคราว และตั้งศูนย์รับและแจกของบริจาค
5. กรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการออกกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทาน คงทนของอาคารและพื้นดินที่รับรองอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดิน ไหว พ.ศ. 2550 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับให้การก่อสร้างอาคาร บางประเภทที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวต้องออกแบบและก่อสร้างให้ สามารถต้านทานแรงสั่นสะเทือน จากแผ่นดินไหวได้
6. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน กรมอุทกศาสตร์ มีภารกิจหลักด้านพัฒนาระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวเฉพาะพื้นที่ของหน่วยงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการเตรียมความพร้อมรองรับกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์กรมทรัพยากรธรณี โทร 0 - 2621 - 9500 หรือที่ www.dmr.go.th