ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 ชี้แจงประเด็นข่าว : ปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM2.5 ที่ปกคลุมภาคใต้ตอนล่าง
ตามที่ได้มีรายงานข่าวในสื่อออนไลน์ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2566 หลายจังหวัดในภาคใต้ตอนล่าง เริ่มพบปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมพื้นที่ อาทิ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และจังหวัดสตูล ซึ่งพบว่าหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM2.5 มีค่าสูง ทำให้บดบังทัศนวิสัยในการเดินทางของยานพาหนะ ประชาชนในพื้นที่มีอาการระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ ขณะที่หน่วยงานในพื้นที่ได้ให้ข้อมูลแจ้งเตือนประชาชนในการดูแลสุขภาพ รวมถึงสาเหตุที่มาของปัญหาหมอกควันไฟป่าฯ ที่เข้ามาปกคลุมในพื้นที่ภาคใต้ขณะนี้ด้วย
สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 (สงขลา) ขอชี้แจงตามประเด็นข่าว ดังนี้
♦ สาเหตุและที่มาของปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM2.5 ที่เข้ามาปกคลุมพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง
ตั้งแต่วันที่ 10 -19 เมษายน 2566 ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ภาคใต้ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกสถานี เนื่องจากเพดานการลอยตัวของอากาศอยู่ในระดับต่ำ อัตราการระบายอากาศไม่ดี ดังนั้น สภาพอากาศที่ปิด ไม่มีการไหลเวียนส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองในพื้นที่ โดยฝุ่นละอองในพื้นที่มาจากกิจกรรมการคมนาคม การขนส่ง การใช้รถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล รวมถึงการทำอาหารปิ้งย่าง การเผาในที่โล่ง อุตสาหกรรม เป็นต้น
♦การประเมินระดับความรุนแรงของค่าคุณภาพอากาศ และแนวโน้มของคุณภาพอากาศจากหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM2.5
คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับดี - ปานกลาง ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ สำหรับผู้ที่ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ หากมีอาการเบื้องต้นเช่น ไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง
จากที่มาของฝุ่นละอองที่เกิดจากกิจกรรมในพื้นที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ประกอบกับเพดาน การลอยตัวของอากาศอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ฝุ่นละอองในภาคใต้มีค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าหลังเทศกาลสงกรานต์ แนวโน้มของคุณภาพอากาศจะดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุตุนิยมวิทยาเฉพาะทางอาเซียน (ASMC) ได้มีการคาดการณ์ว่าภูมิภาคอาเซียนตอนใต้จะเริ่มเข้าสู่สภาวะเอลนิญโญ่ และมีปริมาณฝนต่ำกว่าปกติ อาจส่งผลให้สถานการณ์หมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียนตอนใต้ในปี 2566 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย โดยประเทศไทยอาจได้รับผลกระทบเล็กน้อยในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน
♦แนวทางของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาหมอกควันฯ และฝุ่น PM2.5
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันในการปฏิบัติตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ปี 2566 ภายใต้กรอบ “สื่อสารเชิงรุก ยกระดับปฏิบัติการ สร้างการมีส่วนร่วม” ดังนี้
1. เร่งรัดการประชาสัมพันธ์เชิงรุกและแจ้งเตือนล่วงหน้า 7 วันทุกพื้นที่ ในช่วงสถานการณ์หมอกควันภาคใต้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ตุลาคม โดยกรมควบคุมมลพิษ จะคาดการณ์และแจ้งเตือนสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ล่วงหน้า 7 วัน ในเว็บไซด์ Air4Thai.com หรือ แอปพลิเคชัน Air4Thai และเฟซบุ๊กสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16
2. ยกระดับมาตรการการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง”และแผนอื่นที่เกี่ยวข้อง โดย
- เตรียมการรับมือสถานการณ์และเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมฝุ่นละอองในช่วงวิกฤตในพื้นที่ป่า
- เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมฝุ่นละอองจากยานพาหนะ
- กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามการดำเนินการ และประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
3. ยกระดับการบริหารจัดการเชื้อเพลิงแบบครบวงจร (ชิงเก็บ ลดเผา)
4. กำกับดูแลการดำเนินการในทุกระดับอย่างเข้มงวด ติดตามผลการดำเนินการและประเมินสถานการณ์เป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
5. ลดจุดความร้อน ป้องกันและควบคุมการเกิดไฟในทุกพื้นที่ และพัฒนาระบบพยากรณ์ความรุนแรงและอันตรายของไฟ (Fire Danger Rating System : FDRS)
6. ผลักดันกลไกระหว่างประเทศ เพื่อให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนมีประสิทธิภาพสูงสุด
7. ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง โดยกระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินหลัก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินงานสนับสนุน โดย
- สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน เปิดโอกาส/ช่องทางให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมโดยเฉพาะหน่วยงานท้องถิ่น ชุมชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ในการวางแผนเสนอแนะแนวทางดำเนินการ
- ติดตามผลการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
- มีช่องทางรายงานผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงช่องทางสำหรับร้องทุกข์ แจ้งเหตุการณ์เกิดไฟป่า หรือการเผาในที่โล่ง
♦ ช่องทางสำหรับให้ประชาชนได้เฝ้าระวังและติดตามข้อมูลหมอกควันไฟป่าและฝุ่น PM2.5
ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันสุขภาพ ในกรณีอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หมอกควันข้ามแดน โดยสามารถติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศซึ่งใช้วิธีตรวจวัดตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดได้ทางเว็บไซต์ Air4Thai.com แอปพลิเคชัน Air4Thai และเฟซบุ๊กสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 (สงขลา) หรือโทร. 0 7431 1882 ต่อ 15