
สัญลักษณ์สีเขียวมีรูปหน้าเด็กยิ้ม ต้นไม้และนกที่อยู่ร่วมกันในโลกที่เห็นนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “ฉลากเขียว” ของประเทศไทย หลายท่านอาจเคยเห็นสัญลักษณ์นี้ติดอยู่บนสินค้าบางชนิดบ้างแล้ว เช่น บนห่อกระดาษ A4 ตู้เย็น เป็นต้น แล้วคุณรู้หรือไม่ว่าฉลากเขียวนี้คืออะไร สินค้าที่มีสัญลักษณ์ฉลากเขียวนี้มีดีอย่างไร วันนี้เรามาทำความรู้จักกันว่าฉลากนี้บอกอะไรกับเรา
ฉลากเขียว (Green Label)
ฉลากเขียว (Green Label) คือ ฉลากสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ซึ่งเป็นฉลากประเภท 1 ซึ่งมีองค์กรกลางเป็นผู้ให้การรับรอง การติดฉลากบนสินค้าเพื่อต้องการสื่อสารให้ผู้บริโภครู้ว่า สินค้าที่ได้รับการรับรองด้วยฉลากนี้เป็นสินค้าที่มีองค์ประกอบ กระบวนการผลิต การใช้ ตลอดจนถึงการทิ้งทำลายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ไม่ได้รับการรับรอง ผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้าที่ต้องการสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถเลือกซื้อสินค้าเหล่านี้ได้จากการสังเกต”ฉลากเขียว”ที่ติดแสดงอยู่บนฉลากของสินค้านั้น
ข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์จะมีการพิจารณาและกำหนดแตกต่างกันไปตามประเภทของผลิตภัณฑ์หรือบริการและความเสียหายของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ ทั้งในแง่การผลิต การใช้ การทิ้งทำลาย คือครบทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์นั่นเอง ซึ่งจะคำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การลดภาวะมลพิษทางสิ่งแวดล้อมทางสิ่งแวดล้อม โดยส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่ง การใช้และการกำจัดทิ้งหลังการใช้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำขยะกลับมาใช้ (reuse) และการแปรใช้ใหม่ (recycle)
ประเทศอื่นๆ ก็มีการจัดทำฉลากสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน โดยอาจใช้สัญลักษณ์และชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น กลุ่มสหภาพยุโรป ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปดอกไม้ ใช้ชื่อว่า “EU Flower” เป็นต้น
โครงการฉลากเขียวของประเทศไทย
“ฉลากเขียว”เกิดจากแนวคิดใหม่ที่เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องฟื้นฟูและรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการพัฒนาประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ประเทศเยอรมนีเป็นประเทศแรกที่เริ่มโครงการฉลากเขียว เมื่อปี 2520 ต่อมามีการรวมกลุ่มของประเทศทั่วโลกก่อตั้งเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อม (Global Ecolabelling Network : GEN) เพื่อดำเนินการโครงการฉลากเขียว ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 30 ประเทศ สำหรับประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ GEN ด้วย มีการทำความตกลงยอมรับการดำเนินการระดับองค์กร และความเชื่อถือของห้องปฏิบัติการในการทดสอบตามมาตรฐานร่วมกัน (Mutual Recognition Agreement)ทำให้ “ฉลากเขียว” ของประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ประเทศไทยมีการริเริ่มจัดทำโครงการฉลากเขียวเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2536 โดยคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Business Council for Sustainable Development, TBCSD)การดำเนินการของโครงการได้รับความร่วมมือของสถาบันต่างๆ ทั้งในส่วนราชการ ภาคธุรกิจ และองค์กรกลาง และมีสำนักเลขานุการโครงการฉลากเขียว สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการโครงการ ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินงานโครงการการอนุมัติใช้ฉลากเขียวและคุ้มครองสิทธิ์ของฉลากเขียว
ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฉลากเขียว
ผลิตภัณฑ์ที่สามารถขอการรับรองฉลากเขียวได้นั้น จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ สินค้าและบริการบางประเภท ยกเว้นยา เครื่องดื่มและอาหาร เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้งสามประเภทที่กล่าวมานั้นจะเกี่ยวข้องกับสุขภาพ ความปลอดภัยในการบริโภคมากกว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การติดฉลากเขียวอาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภคได้ จึงยกเว้นในสามกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ปัจจุบันฉลากเขียวของประเทศไทยมีข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆแล้วจำนวน 48 ผลิตภัณฑ์ สามารถดูรายละเอียดข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ได้ที่เว็บไซต์ http://www.tei.or.th/greenlabel/th_index.htmlซึ่งปัจจุบันมีการปรับปรุงข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์บางรายการ คาดว่าจะประกาศข้อกำหนดที่ปรับปรุงใหม่นี้ในเดือนกันยายน 2554 ผู้สนใจสามารถติดตามทางเว็บไซต์ของฉลากเขียวได้
ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียวกับสิ่งทอ
ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่อยู่ในข้อกำหนดของฉลากเขียว คือ “ผ้าและผลิตภัณฑ์ทำจากผ้า” ซึ่งมีขอบข่ายของผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่สามารถขอการรับรองได้ คือ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเคหะสิ่งทอ
ผลิตภัณฑ์ที่จะยื่นขอการรับรองจะต้องมีสมบัติตามข้อกำหนดฉลากเขียว คือ
1. ข้อกำหนดทั่วไป ซึ่งจะอ้างอิงไปถึงมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 3 มาตรฐาน คือ
มอก. 2231- ผ้า: ความปลอดภัยจากสีและสารเคมีที่เป็นอันตราย
มอก. 2435– ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเด็ก
มอก. 2346- เสื้อผ้าสำเร็จรูป: ความปลอดภัยจากสีและสารเคมีที่เป็นอันตราย
2. กระบวนการผลิต การขนส่ง และการกำจัดของเสียจากกระบวนการผลิตต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับของราชการ เช่น พระราชบัญญัติโรงงาน อุตสาหกรรม
3. ข้อกำหนดพิเศษ ซึ่งจะเพิ่มเติมจากข้อกำหนดทั่วไป เช่น ห้ามใช้สารทาเลต (Phthalate compounds) ในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าเด็ก เป็นต้น
ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว
การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว เป็นแนวทางหนึ่งที่ผู้บริโภคสามารถช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกให้ดีขึ้น เพราะข้อกำหนดของผลิตภัณฑ์ฉลากเขียวกำหนดโดยพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ว่าสามารถจะปรับลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างไรบ้าง ข้อดีอีกประการหนึ่งสำหรับผลิตภัณฑ์ฉลากเขียวของประเทศไทย คือผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเขียวจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทั่วไป และมีความปลอดภัยจากสีและสารเคมีที่เป็นอันตราย เนื่องจากมีการอ้างอิงไปยังมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งนับเป็นกำไรของผู้บริโภค นั่นคือนอกจากจะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแล้วผู้บริโภคหรือผู้ใช้ผลิตภัณฑ์จะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีและไม่ต้องเสี่ยงที่จะได้รับสารอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วย
แม้การบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยยังจะไม่แพร่หลายมากนัก แต่ภาครัฐก็ให้ความสำคัญ ดังจะเห็นว่าประเทศไทยได้ประกาศ “นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว” (Green Procurement) โดยกำหนดเป้าหมายให้หน่วยงานภาครัฐระดับกรมหรือเทียบเท่าจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมต่อหน่วยไม่น้อยกว่า 25% ในปี 2551 และจะต้องมีปริมาณการจัดซื้อจัดจ้างเพิ่มขึ้นทุกปีจนครบ 100% ในปี 2554 ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการผลักดันการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
สำหรับผลิตภัณฑ์สิ่งทอกับฉลากเขียวนั้น ในปัจจุบันมีผู้ได้รับฉลากเขียวเพียงรายเดียว คือ บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังดำเนินโครงการ “การพัฒนาสิ่งทออย่างครบวงจร” ซึ่งมีการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กจำนวน 12 ราย ให้มีศักยภาพที่จะผลิตสินค้าฉลากเขียวได้
หากมีการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์ฉลากเขียวกันมากขึ้น จะทำให้ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมลงได้ การอยู่ร่วมกันระหว่างคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมในโลกก็จะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข เหมือนกับสัญลักษณ์ของฉลากเขียวที่มีรูปหน้าเด็กยิ้ม ต้นไม้และนกที่อยู่ร่วมกันในโลก เราเองก็สามารถมีส่วนร่วมได้ในการช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เช่นกันด้วยการใช้สินค้าฉลากเขียว เพื่อให้ลูกหลานของเราอาศัยอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุขตลอดไป
ที่มา
http://www.bangkokbiznews.com/2008/02/13/WW83_8302_news.php?newsid=229434
