พลังงานทดแทน พลวัตกระแสโลก

ในยุคที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ แม้ระดับราคาในบางช่วงจะเริ่มปรับตัวลดลงบ้างแล้วก็ตาม แต่นักวิชาการด้านพลังงานทั้งหลายต่างฟันธงลงไปว่า จะไม่เห็นราคาน้ำมันดิ่งหัวลงอย่างแรง อย่างดีก็มีแต่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกนาน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย หันมาให้ความสำคัญกับ "พลังงานทดแทน" เพราะนอกจากจะเป็นทางเลือกในเรื่องของราคาที่ต่ำกว่าน้ำมันแล้ว พลังงานทดแทนยังมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษขณะเดียวกัน ยังช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ประหยัดเงินตราต่างประเทศได้มาก จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีการนำพลังงานทดแทนหลากหลายชนิดมาใช้ทดแทนน้ำมัน ในจังหวะเดียวกับที่ทั่วโลกเริ่มตื่นตัวกับการพัฒนาพลังงานทดแทนเช่นกัน โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนออกมาเป็นระยะๆ ล่าสุดมีการปรับแผนระยะยาวในการปรับเป้าหมายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น รัฐจึงเร่งส่งเสริมการผลิตและสนับสนุนพลังงานทดแทนทุกประเภท โดยในส่วนของแก๊สโซฮอล ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติสนับสนุนให้ใช้ อี 20 (ผสมเอทานอลในเบนซินสัดส่วน 20%) และพัฒนาไปสู่การใช้ อี 85 (ผสมเอทานอลในเบนซิน 85%) ในที่สุด
ในส่วนของไบโอดีเซล กระทรวงพลังงานได้ส่งเสริมการผลิตและการใช้มากขึ้น หลังพบว่า ปริมาณการใช้มีอัตราเติบโตต่อเนื่องกว่า 600% โดยยอดการใช้ไบโอดีเซลบี 5 (ผสมไบโอดีเซลในดีเซล สัดส่วน 5%) จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2551 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นเป็นวันละ10.69 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาที่มีการใช้วันละ 9.67 ล้านลิตร หรือสูงขึ้น 10.6% และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่ามียอดการใช้สูงขึ้นถึง 609.8% นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังยืนยันว่าจะส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลบี 5 มากขึ้น ด้วยการกำหนดส่วนต่างราคาระหว่างไบโอดีเซลบี 5 กับน้ำมันปกติเพิ่มขึ้นเป็นลิตรละ 70 สตางค์ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจและบรรเทาผลกระทบด้านราคาน้ำมันแพงให้กับผู้ใช้รถยนต์ดีเซลทั่วไปรวมไปถึงกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ดีเซลเพื่อการเกษตร ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานยังได้ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อส่งเสริมการปลูกปาล์มให้เกิดการพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างครบวงจร นอกจากนี้ ภาครัฐยังส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติในยานพาหนะ (เอ็นจีวี)เพิ่มมากขึ้นเพราะมีความปลอดภัยมากกว่าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี ) อีกทั้งยังมีข้อได้เปรียบเรื่องราคาที่ถูกกว่าน้ำมันถึง 50% โดยกระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนโรดแม็พ (Road Map) เพิ่มแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ในส่วนกลางและภูมิภาค ทั้งนี้คาดว่าภายในปี 2551 จะสามารถเพิ่มจำนวนสถานีเอ็นจีวีได้ถึง 355 สถานี นอกจากนี้ยังตรึงราคาเอ็นจีวีอยู่ที่ลิตรละ 8.50 บาทไปถึงสิ้นปีนี้ ก่อนจะมีการปรับราคาใหม่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของราคาน้ำมันดีเซลในอนาคต
ในส่วนของการส่งเสริมพลังงานทดแทนในภาคการผลิตไฟฟ้า รัฐมีนโยบายให้ภาคเอกชนหันมาลงทุนโครงการเกี่ยวกับพลังงานทดแทนมากขึ้น เพื่อจำหน่ายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้า โดยมีนโยบายให้เงินส่วนเพิ่มพิเศษ (Adder) จากการขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตามประเภทเชื้อเพลิง เช่น ผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์ ในราคา 8 บาทต่อหน่วยนาน 10 ปี
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเงินลงทุน เช่น ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำวงเงิน 50 ล้านบาท โดยจะต้องคืนเงินภายใน 7 ปี นโยบายนี้จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคเอกชนให้สามารถดำเนินโครงการได้ในระดับหนึ่ง
หากมีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นก็จะสอดคล้องกับนโยบายกระตุ้นให้คนไทยประหยัดพลังงานของกระทรวงพลังงาน และหากทุกฝ่ายร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจังแล้ว จะช่วยให้ประเทศลดการใช้พลังงานกว่าปีละ10% ของมูลค่าการใช้พลังงานโดยรวม คิดเป็นเงินปีละกว่า 1 แสนล้านบาท
กระแสตื่นตัวพลังงานทดแทน ยังไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลกในระยะหลังๆมานี้ ในการประชุมเวทีระดับโลก หรือนานาชาติมักจะบรรจุเรื่องพลังงานทดแทนเข้าเป็นวาระสำคัญ นอกจากนี้นโยบายดังกล่าวยังถูกกำหนดเป็นยุทธศาสตร์อย่างชัดเจนในประเทศต่างๆ กว่า 48 ประเทศทั่วโลก แม้กระทั่ง ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็ได้ประกาศนโยบายที่จะลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากภายนอกประเทศ โดยตั้งเป้าที่จะจัดหาพลังงานทดแทนให้ได้มากกว่า 75% ของปริมาณนำเข้าน้ำมันจากประเทศในตะวันออกกลาง ภายใน 20 ปีข้างหน้า ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทน
ขณะที่สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศชั้นนำของโลกที่ให้ความสำคัญและดำเนินการวิจัยด้านพลังงานทดแทนมานับสิบๆ ปีแล้ว และประสบความสำเร็จในการนำพลังงานทดแทนเข้ามาใช้จริงในชีวิตประจำวันในวงกว้าง โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปที่จัดว่าเป็นแนวหน้าในด้านนี้ ได้แก่ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส ยิ่งน้ำมันหายากมากขึ้น แพงขึ้นเท่าใด สหภาพยุโรปยิ่งทุ่มเทงบประมาณและบุคลากรเดินหน้าพัฒนาในด้านพลังงานทดแทนมากขึ้น เพราะเรื่องพลังงาน ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะประเด็นด้านเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศด้วย

โดยแผนระยะยาวในด้านพลังงานของสหภาพยุโรป คือ เน้นการใช้พลังงานจากแหล่งที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาพลังงานทดแทนจากแหล่งต่างๆ ที่สำคัญ คือ ลม แสงแดด น้ำ ชีวภาพ
ทั้งนี้ ในด้านพลังงานทดแทน สหภาพยุโรปกำหนดเป้าหมายที่จะต้องบรรลุให้ได้ในปี 2553 คือ การบริโภคพลังงานทั้งหมดของสหภาพยุโรปจะต้องได้จากพลังงานทดแทน 12%
พลังงานที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของสหภาพยุโรป จะต้องมาจากพลังงานทดแทน 21% และภาคการขนส่งจะต้องใช้พลังงานทดแทนเป็นสัดส่วน 5.75% ของพลังงานทั้งหมด ซึ่งเป็นมาตรการที่ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปทุกประเทศต้องถือปฏิบัติ
นอกจากนี้ ยังมีการปลูกฝังและกระตุ้นทุกภาคสังคม ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน กลุ่มธุรกิจ องค์กรของรัฐ ให้เห็นความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ รู้ถึงความหายากและราคาแพงของพลังงาน ความจำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า ปลูกฝังกันอย่างจริงจังในทุกระดับ ทุกวงการ ให้หันมาสนใจใช้และพัฒนาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้าง "วัฒนธรรมการใช้พลังงานแนวใหม่" (new energy culture)
การวางแผนของสหภาพยุโรปในด้านการประหยัดพลังงาน กระทำอย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกันในทุกระดับ ทุกองค์กร กำหนดเป้าหมายระยะยาว เน้นความต่อเนื่องของการดำเนินงาน มีการติดตามผลการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้มั่นใจว่าแผนแต่ละขั้นมีการปฏิบัติลุล่วงไปมากน้อยเพียงใด
สหภาพยุโรป ตระหนักดีว่า การพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานทดแทนของยุโรป จำเป็นต้องแสวงหาความร่วมมือจากต่างประเทศ จึงมีโครงการและงบประมาณเพื่อสนับสนุนความร่วมมือกับต่างประเทศ โดยกำหนดไว้ในแผนระยะยาวของสหภาพยุโรปด้วย นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังเห็นว่า พลังงานของโลกมีจำกัดและลดน้อยลงทุกวันจึงต้องกระตุ้นและสนับสนุนศักยภาพในด้านนี้ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก เพื่อให้เกิดความร่วมมือในระดับโลก
จะเห็นว่า ประเทศไทยเดินมาถูกทางในเรื่องของนโยบายด้านพลังงานทดแทน ดังนั้นความร่วมมือของทุกครในการผลักดันนโยบายให้เกิดเป็นรูปธรรม และมีการปฏิบัติอย่างกว้างขวาง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืนและมั่นคงของประเทศต่อไป
ที่มา www.kapook.com บทความจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
|