
ระดับน้ำทะเล
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกทำให้ระดับน้ำ เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.09 – 0.88 เมตร มีผลต่อสภาวะคลื่นและการกัดเซาะชายฝั่ง ส่งผลต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นทั้งทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญ และแหล่งประกอบอาชีพของชุมชนชายฝั่ง ผลผลิตทางการประมง และเกษตรกรรมบริเวณชายฝั่ง รวมไปถึงธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น และเศรษฐกิจของประเทศ
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำ ทะเลในประเทศไทยมีการดำเนินการ และเผยแพร่เป็นเอกสารอ้างอิงได้ตั้งแต่ปี 2536 งานวิจัยเหล่านี้เป็นประเมินผลกระทบจากการเพิ่ม ของระดับน้ำทะเลโดยสมมติให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 0.5 – 1 เมตร
จากการวิจัยพบว่าชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยได้รับผล กระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลมากกว่า ชายฝั่งอันดามัน บริเวณชายฝั่งที่ประสบปัญหารุนแรง คือ กรุงเทพมหานคร และบริเวณใกล้เคียงรวมถึงชายฝั่งจังหวัดระยอง จังหวัดเพชรบุรี ลงไปถึงนราธิวาส ชายฝั่งที่ถูกกัดเซาะอย่างรุนแรง อยู่ในบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก และชายหาดหัวหิน ถูกกัดเซาะเข้าไปเป็นระยะทางหลายร้อยเมตร ชายฝั่งที่เป็นหน้าผาหินแข็งอย่าง บริเวณอ่าวพังงา จะถูกกัดเซาะได้ช้ากว่า ชายฝั่งที่เป็นหน้าผาหินเนื้ออ่อน เช่น บริเวณอ่าวระยอง ซึ่งถูกกัดเซาะจนร่นถอย และเสียพื้นที่อย่างรวดเร็ว บริเวณชะวากทะเล (Estuary) ที่อยู่ในเขต พื้นที่ต่ำ จะจมลงและถูกกัดเซาะมากขึ้น บริเวณปากแม่น้ำทั่วประเทศจะเกิดการผันแปรของน้ำขึ้นน้ำลง และมีการลุกล้ำของน้ำเค็มเข้าสู้ลำน้ำ เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์ โดยเฉพาะประชากรปลา ในทะเลสาบน้ำเค็ม เช่น ทะเลสาบสงขลา หากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.5 เมตร จะส่งผลกระทบต่อระบบน้ำในทะเลสาบทั้งหมด โดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำของทะเลสาบมีโอกาสเสี่ยงต่อน้ำท่วมรุนแรง และหากน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1 เมตร น้ำเค็มจะรุกล้ำท่วมพื้นที่รอบทะเลสาบ ผลคือ พื้นที่ทะเลสาบจะเพิ่มขึ้น ลึกขึ้น และน้ำกร่อยจะรุกเข้าในระบบน้ำจืดของทะเลสาบ
ระดับน้ำทะเล ที่สูงขึ้นในปัจจุบันเข้าท่วมบริเวณที่ลุ่มน้ำเค็มและป่าชายเลน ปกติแล้วพื้นที่ชุ่มน้ำชายฝั่งทะเลเหล่านี้จะสามารถเคลื่อนตัวเข้าหาแผ่นดิน ได้หากน้ำท่วมพื้นที่มากขึ้น แต่ปัจจุบันกลไกธรรมชาติดังกล่าวถูกจำกัดลงด้วยสิ่งก่อสร้างต่างๆ ของมนุษย์ที่ปิดกั้นแนวถอยร่นของป่า ส่งผลให้บริเวณที่ติดอยู่กับชายฝั่งทะเลของพื้นที่ดังกล่าวถูกน้ำทะเลท่วม ขังและกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง กระทั่งสูญเสียสภาพทางนิเวศและกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม บริเวณที่ต้องให้ความสนใจและแก้ไขได้แก่ ป่าชายเลนของจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรี สุราษฏร์ธานี นครศรธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต จันทบุรี และตราด
หมู่เกาะปะการังและเกาะสันดอนตามแนวชายฝั่งทะเล เป็นบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลค่อนข้างสูง ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการอยู่รอดของปะการังค่อนข้างซับซ้อน ปะการังในบางพื้นที่อาจได้รับประโยชน์จากระดับน้ำที่สูงขึ้น เนื่องจากความสูงของน้ำทำให้แสงส่องถึงท้องน้ำลดลง ปะการังจึงปรับตัวเข้าหาฝั่งมากขึ้นและต้องเร่งการเจริญเติบโตในแนวตั้ง เพื่อให้ได้รับแสงและเจริญเติบโตในต่อไป แต่ในบางพื้นที่อาจเกิดภาวะมลพิษจากการที่น้ำจืดพัดพาตะกอนชายฝั่งที่เกิด จากการกัดเซาะมารวมตัวกัน ซึ่งขัดขวางการเติบโตของปะการัง
การเพิ่มของระดับน้ำทะเลเป็นสาเหตุนำไปสู่การเคลื่อนตัวของน้ำ เค็มสู่แผ่นดิน ทำให้เกิดปัญหาน้ำจืดใต้ดินเค็ม ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำจืดใต้ดิน เช่น กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ พบว่าการสูบน้ำขึ้นมาใช้ของกรุงเทพมหานครยังทำให้ระดับน้ำทะเลสัมพัทธ์เพิ่ม ขึ้น อัตราการเพิ่มนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปีนอกจากนี้ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นยังทำให้ ชุมชนชายฝั่งทะเลระบายน้ำเสียลงสู่ทะเลได้ยากขึ้นระบบบำบัดน้ำเสียอาจได้รับ ผลกระทบจากการกัดเซาะและจมตัวของแผ่นดิน ในการผลิตเกลือสมุทรอาจพบปัญหาในระบบดันน้ำออกจากแปลงนาเกลือที่อยู่ต่ำกว่า ในขณะแปลงนาเกลือที่อยู่สูง ก็จะพบปัญหาการกัดเซาะและชายฝั่งจมตัว
