ป่าพรุเป็นอย่างไร ?
โพสเมื่อ : 20 ส.ค. 55

        ป่าพรุหรือป่าบึง (Swamp forest)

           คือ ป่าที่มีพื้นที่ลุ่มน้ำขังดินเป็นหล่มเลนและมีซากอินทรีย์วัตถุทับถมทำให้ดินยุบลงตัวได้ง่าย  พืชที่ขึ้นในป่าพรุจึงมีการพัฒนาและมีความหลากหลาย  ส่วนสัตว์ชนิดต่าง ๆ  ก็ต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม  ป่าพรุเป็นป่าที่มีลักษณะเด่นแตกต่างไปจากป่าอื่น ๆ  ไม่ว่าจะเป็นสภาพป่าขึ้นอยู่ลักษณะของดิน หรือองค์ประกอบต่าง ๆ  ถ้าจะจำแนกประเภทของป่าพรุจะจัดได้ว่า  ป่าพรุเป็นป่าในเขตร้อนประเภทไม่ผลัดใบเช่นเดียวกับป่าดงดิบชื้น  แต่สภาพป่านั้นแตกต่างจากป่าประเภทอื่น ๆ  โดยสิ้นเชิง

 

           ป่าพรุเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง

           ป่าพรุเกิดขึ้นได้ทั้งตามหุบเขาสูงและชายฝั่งทะเล  ในประเทศไทยพบป่าพรุได้ในแถบจังหวัดภาคใต้  ได้แก่  จังหวัดนครศรีธรรมราช  พัทลุง  สงขลา และนราธิวาส  แต่ป่าพรุที่สมบูรณ์และเหลืออยู่เป็นผืนสุดท้ายคือ ป่าพรุโต๊ะแดง  อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง  อำเภอตากใบ และอำเภอสุไหโกลก  จังหวัดนราธิวาส  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 165,000 ไร่  

           สภาพพื้นที่ป่าพรุ 

           เป็นที่ลุ่มน้ำขังใกล้ชายฝั่ง  อากาศบริเวณนั้นมีความชื้นสูง  ฝนตกชุกเกือบตลอดปี  อุณหภูมิเฉลี่ยค่อนข้างสูง




 องค์ประกอบอื่น ๆ  เช่น  ดิน  น้ำ  พืชพันธุ์ไม้และสัตว์  มีลักษณะเป็นอย่างไรบ้าง


1. ลักษณะของดิน


 พื้นที่เดิมชั้นล่างเป็นดินเลนทะเล  มีสารประกอบกำมะถัน  ดินในป่าพรุเกิดจากการสะสมของซากอินทรีย์วัตถุ  เช่น  เศษไม้ และใบไม้  เป็นเวลานานทับถมเป็นชั้นหนา  ซากพืชและอินทรีย์วัตถุส่วนใหญ่จะจมอยู่ใต้ผิวน้ำ  จึงสลายได้อย่างเชื่องช้า เราเรียกดินชนิดนี้ว่า  ดินอินทรีย์ (Organic Soil)  ลักษณะของดินอินทรีย์เป็นสีน้ำตาลน้ำหนักเบาและ อุ้มน้ำได้ดี  ป่าพรุมีดินอินทรีย์ปิดหน้าดินเดิมไว้หนา ประมาณ 0.5 ถึง 5.0 เมตร

 

2. ลักษณะของน้ำ

 ป่าพรุมีน้ำแช่ขังตลอดปี  การไหลเวียนของน้ำเป็นไปอย่างช้า ๆ  กระแสน้ำไหลเอื่อย ๆ   ไม่หยุดนิ่ง  สีของน้ำเป็นสีน้ำตาลคล้ายน้ำชา  เป็นสีของน้ำฝาด (น้ำฝาด คือ น้ำสีน้ำตาลที่ได้จากการสลายตัวของซากพืช)  รสเฝื่อนเล็กน้อย (เผื่อน คือ ฝาดปนเปรี้ยว)  น้ำในป่าพรุมีสภาพความเป็นกรด-ด่าง หรือมีค่า pH = 4.5-6.0 เป็นกรดอ่อน ๆ  สามารถนำมาใช้บริโภคได้ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสัตว์ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี

 

 

 

3. พืชพันธุ์ไม้


พื้นที่พรุส่วนใหญ่ประกอบด้วยน้ำและดินอินทรีย์ซึ่งทับถมกันอยู่หลวม ๆ  การดำรงชีวิตอยู่ของพืชโดยเฉพาะต้นไม้ใหญ่จึงเป็นไปอย่างยากลำบาก  พืชในป่าพรุจึงมีการพัฒนาระบบราก ชนิดพิเศษแตกต่างไปจากระบบรากของพืชในป่าประเภทอื่น ๆ  เช่น  พัฒนาเป็นพูพอน  รากค้ำยัน และรากหายใจ  เป็นต้น


พูพอน (Buttress)

เป็นลักษณะของส่วนด้านข้างของโคนต้นได้แผ่ขยายออกไปเป็นปีกกว้าง  เพื่อรับน้ำหนักไม่ให้ต้นไม้นั้นล้มโค่น


รากค้ำยัน (Stilt root) หรือรากค้ำจุน

คือรากที่งอกออกทางด้านข้างของลำต้นในบริเวณที่มีกระแสน้ำไหลตลอดเวลาและเพื่อไม่ให้ขัดขวางการไหลเวียนของกระแสน้ำ


รากหายใจ (Preumatophore)

  คือรากแขนงที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมาเพื่อระบายอากาศ และมีลักษณะแตกต่างกันไปเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว พืชพันธุ์ไม้ที่พบในป่าพรุแต่ไม่พบในป่าประเภทอื่น  ได้แก่  มะฮัง  สะเตียว  หลุมพี  สาคู  หลาวชะโอน  กะพ้อแดง  ตังหนใบใหญ่  ช้างไห้  เป็นต้น  ที่ป่าพรุโต๊ะแดงจะพบพืชชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกกันมากคือ หมากแดง

 

ตัวอย่างพืชที่พบในป่าพรุ

กระพ้อแดง หลุมพี หลาวชะโอน
สาคู ช้างไห้ สะเตียว


4. สัตว์ในป่าพรุ  นอก จากพืชพันธุ์ไม้แล้ว  สิ่งมีชีวิตอีกพวกหนึ่งซึ่งจะลืมไม่ได้เมื่อป่านั้นสมบูรณ์ คือ สัตว์ที่เข้ามาอาศัยอยู่เนื่องจากป่าพรุเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำขัง  ดังนั้นพื้นที่ป่าเป็นพื้นน้ำก็จะมีพวกปลาอาศัย  เช่น  ปลาดุก  ลำพัน  ปลาช่อน  ปลาชะโด  สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำพวก กบ  เขียด  แต่จะพบเขียดชนิดหนึ่ง  ถ้าเดินเข้าไปในป่าพรุจะได้ยินเสียงดังว้าก ๆๆ ครั้งแรกคิดว่าเป็นเสียงนกร้อง  แต่จริง ๆ แล้วเป็นเสียงร้องของเสียดว้าก  สัตว์ปีกจำพวกนกได้แก่  นกเงือก  นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่  เป็นต้น  สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่พบ  เช่น  ค่างแว่น  ลิง  เป็นต้น

เมื่อ ป่าพรุอุดมสมบูรณ์ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงย่อมใช้ประโยชน์จากป่า  แต่เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือ การเข้าบุกทำลายอย่างรวดเร็วอย่างที่เป็นข่าว 


โทษของการทำลายป่าพรุ

ทำ ให้ดินและน้ำบริเวณป่าพรุและใกล้เคียงกลายเป็นกรดอย่างรุนแรงจนไม่สามารถ ประกอบการกสิกรรมหรือแม้แต่นำมาดื่มกินได้  ปลาและสัตว์น้ำต่าง ๆ  สูญหายไปอย่างรวดเร็ว  ยิ่งไปกว่านั้น อากาศร้อนจะแห้งแล้งมากขึ้น  น้ำที่เคยมีในพื้นที่ป่าพรุก็แห้งเกิดไฟป่าเผาไหม้  เหตุการณ์เหล่านี้เองเป็นสิ่งเตือนใจให้ประชาชนได้ทราบถึงผลร้ายในการทำลาย ป่าพรุ การ อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุที่เสื่อมโทรมให้คืนดีจะต้องอาศัยความร่วมมือกัน หลาย ๆ ฝ่าย  และประชาชนจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของป่าพรุด้วยเนื่องจากป่าพรุเป็นแหล่ง ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์  จึงอยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างกว้างขวาง  ความตื่นตัวนี้ส่งผลให้เกิดความพยายามที่จะรักษาธรรมชาติ และคุณภาพสิ่งแวดล้อมเอาไว้ กรม พัฒนาที่ดิน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มเข้าไปดำเนินงานด้านป่าพรุภายใต้โครงการศูนย์ศึกษา การพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดนราธิวาส  ได้ขยายการดำเนินงานการศึกษาและวิจัยป่าพรุ  โดยการจัดตั้งศูนย์ศึกษาธรรมชาติป่าพรุขึ้น และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ  ทรงพระราชทานนามศูนย์ศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ว่า

"ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร"
 
ศูนย์ นี้ตั้งขึ้นโดยมีความมุ่งหมายให้ป่าพรุเป็นแหล่งการศึกษาความรู้ในธรรมชาติ  อีกทั้งเป็นสถานที่พักผ่อนหาความเพลิดเพลินของนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจ  โดยมีการก่อสร้างทางเดินเพื่อสะดวกในการเข้าไปศึกษาป่าพรุ  แต่อย่างไรก็ตามความมุ่งหมายในที่สุดก็คือ  เพื่อให้เป็นแหล่งสร้างจิตสำนักแก่ประชาชนโดยทั่วไป  ได้ตระหนักถึงความสำคัญและเกิดความรักและหวงแหนทรัพยากรในป่าพรุ และช่วยกันรักษาป่าพรุโต๊ะแดงให้คงอยู่ตลอดไป
ที่มา : รวบรวมจาก ทิพย์วรรณ สุดปฐม  วิทยากร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป วารสาร สสวท