หมอกควันร้ายทำลายสุขภาพ
โพสเมื่อ : 20 มิ.ย. 55

 

นิยามและความหมาย

หมอกควัน หรือ สม็อก (smog) เป็นลักษณะของมลพิษทางอากาศชนิดหนึ่ง โดยคำว่า สม็อก เป็นคำกร่อนมาจากคำว่า "สโมก" (ควัน) กับ "ฟ็อก" (หมอก) ในอดีตสม็อกเกิดขึ้นมาจากการผสมระหว่างควันกับซัลเฟอร์ไดออกไซด์จากการเผาไหม้ถ่านหิน ส่วนสม็อกในปัจจุบันมักจะมาจากควันที่เกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์และควันจากโรงงานอุตสาหกรรม และทำปฏิกิริยากับแสดงแดดซึ่งก่อให้เกิด หมอกควันแบบโฟโตเคมี (photochemical smog)

ศัพท์น่ารู้

มลพิษทางอากาศ(Air Pollution)

   คือ สภาพอากาศที่มีสารเจือปน และถ้าสารเจือปนนี้สะสมอยู่ในอากาศ เป็นเวลานานๆ จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และพืชผลต่างๆ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมรอบๆสภาพอากาศ ที่มีสารเจือปนเหล่านั้น

หมอก (Fog)

   คือ เมฆที่เกิดในระดับใกล้พื้นดิน ซึ่งทำให้ทัศนวิสัยหรือการมองเห็นเลวลง เป็นอันตรายต่อการจราจรทั้งทาง บกและทางอากาศ ในวันที่มีอากาศชื้น และท้องฟ้าใส พอตกกลางคืนพื้นดินจะเย็นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ไอน้ำ ในอากาศเหนือพื้นดินควบแน่น เป็นหยด หมอกซึ่งเกิดขึ้นโดยวิธีนี้จะมีอุณหภูมิต่ำ และมีความหนาแน่นสูงเคลื่อน
ตัวลงสู่ที่ต่ำ และมีอยู่อย่างหนาแน่นในหุบเหว

ควัน (smoke) จัดเป็นคอลลอยด์ ที่เป็นอนุภาคของของแข็งหรือของเหลว กระจายอยู่ในตัวกลางที่เป็นแก๊สที่มีอยู่ในอากาศ จะถูกปล่อยออกมาเมื่อมีการเผาวัสดุหรือเกิดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีโดยใช้ความร้อน พร้อมกับปริมาณของอากาศหรือผสมในมวลสารชนิดอื่น ซึ่งเป็นส่วนเกินจากผลที่เกิดขึ้นจากความร้อน

 

หมอกควันและมลพิษทางอากาศ

            หมอกควันจัดได้ว่าเป็นมลพิษทางอากาศที่สำคัญ เป็นผลผลิตของกระบวนการเผาไหม้หรือสันดาปที่ไม่สมบูรณ์ เป็นต้นกำเนิดของสารมลพิษทางอากาศที่ฝังตัวอยู่กับอนุภาคฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เมื่อเข้าไปในปอดแล้ว ไม่สามารถขับออกมาได้ สารมลพิษกลุ่มที่มีจำนวนชนิดมากที่สุดเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีชื่อว่าพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons) ที่มักเรียกชื่อว่าพีเอเอช หรือพาห์ (PAH) ซึ่งมีสารสมาชิกไม่น้อยกว่าสิบชนิดที่เป็นสารก่อมะเร็ง และแทบทุกชนิดเป็นสารที่คงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน ไม่สลายตัวได้ง่าย

สาเหตุของการเกิดหมอกควัน มีหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่

  • ไฟป่า
  • การเผาเศษพืชและเศษวัสดุการเกษตร
  • การเผาขยะมูลฝอยจากชุมชน
  • การเผาวัชพืชริมถนน
  •  มลพิษจากอุตสาหกรรม

ผลกระทบทางด้านสุขภาพ

            ผลกระทบทางด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศโดยทั่วไป ได้แก่ การรู้สึกระคายเคืองหรือแสบตา ภาวะการหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคหอบหืดมีความเสี่ยงที่จะมีอาการทรุดหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ เนื่องจากขีดความสามารถในการทำงานของปอดลดลงอย่างรวดเร็ว และแม้ว่าอาจจะไม่เสียชีวิตด้วยโรคหอบหืด แต่ในระยะยาว มักจะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด โดยเฉพาะในเขตอำเภอสารภีและอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ในระยะประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเป็นมะเร็งรายใหม่รายปีในอัตรา 40 : 100,000 คน ซึ่งถือว่าสูงเป็น 2 เท่าของอัตราเฉลี่ยของประเทศไทย ที่ตกปีละ 20 : 100,000 คน