
มลพิษของเสียง(Noise Pollution)
ถ้าจะพูดถึงเสียงในทางลบ มักจะใช้คำว่า noise
ถ้าจะพูดถึงเสียงในทางที่ดีมักใช้คำว่า sound
นิยามและความหมาย
มลพิษของเสียง ( Noise Pollution ) หมายถึง ภาวะแวดล้อมที่มีเสียงที่ไม่พึงปรารถนา รบกวนโสตประสาท จนอาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงดังๆเสมอไป เสียงค่อยๆที่เราไม่ต้องการก็เป็นมลพิษทางเสียงได้ เช่น เสียงของคน เสียงของสัตว์ หรือเสียงเพลง เป็นต้น
ปกติแล้วเสียงที่ไม่พึงปรารถนานั้นเรามักมองในแง่ของการเกินขนาดขีดจำกัด และเวลา ที่นานพอที่จะให้ก่อเกิดปัญหาต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ บางครั้งเสียงนั้นอาจไม่นานพอที่จะสร้างมลพิษได้ ส่วนขนาดของเสียงอาจสามารถสร้างให้เกิดปัญหากับคนๆหนึ่ง แต่กับอีกคนๆหนึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดปัญหาก็ได้ ขึ้นอยู่กับ เพศ อายุ รูปร่าง สภาพจิตใจในตอนนั้น ฯลฯ
ศัพท์น่ารู้
Noise หมายถึง
เสียงที่ไม่ปรารถนา และเกินขีดความสามารถในการที่จะรับได้ ซึ่งมีที่มาหลายๆแหล่ง เช่น จากธรรมชาติ สิ่งก่อสร้าง เครื่องจักร ฯลฯ..หรือเสียงน้ำหยดติ๋งๆในยามค่ำคืนก็รบกวนโสตประสาทได้ เสียงหมาโก่งคอขันเยือกเย็นในยามค่ำคืนที่เราบังเอิญอยู่คนเดียวที่มีงานศพ ใกล้บ้าน เป็นต้น...เสียงซ่าๆที่ปนมากับเสียงเพลงจากเนื้อเทป เป็นต้น
Sound หมายถึง
เสียงที่มีความไพเราะ ไม่เป็นภัยต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิต เช่น กระซิบคำว่ารักอย่างแผ่วเบาภายใต้บรรยากาศที่โรแมนติกในยามคำคืน (แต่ถ้ากระซิบผิดคนก็เป็นเรื่องอาจถึงตายหรือพิการได้) เสียงดนตรี(ที่ชอบ..บอกเน้นว่าที่ชอบด้วยเพราะบางคนชอบฟังดนตรีต่างกัน) เป็นต้น
พิทซ์ (Pitch) หมายถึง
ความถี่ของเสียง(Frequency of sound) วัดเป็น cycle per second หรือคิดเป็นหน่วยที่เรียกว่า Hertz(Hz) ซึ่งหมายถึงจำนวนรอบ/วินาทีของคลื่นเสียง ปกติหูคนเราจะรับเสียงได้ในช่วงความถี่ประมาณ 20 - 20,000 Hz ค่าที่น้อยหมายถึงเสียงที่มีความถี่ต่ำ ค่าที่มากๆจะมีความถี่ของเสียงสูงหรือที่เรียกว่าเสียงแหลม
Intensity (ความหนักเบาของเสียง) หมายถึง
ความดังของเสียง (pressure of sound) ที่มีหน่วยวัดเป็น bel ซึ่งเป็นหน่วยใหญ่เกินไป จึงนิยมใช้หน่วยเดซิเบล (Decibel , dB)หูคนเราสามารถรับเสียงดังตั้งแต่ 0 - 120 dB(0 dB หมายถึงเสียงเบาที่สุดที่จะได้ยิน ไม่ใช่แปลว่าไม่มีเสียง)
แหล่งกำเนิดเสียงเป็นพิษ
ในธรรมชาติปกติก็มีเสียงอยู่แล้วเช่น สายลม แมกไม้ นกร้อง ฯลฯ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาบ้างแต่คงไม่มากมายนัก ส่วนเสียงเป็นพิษที่เกิดจากฝีมือมนุษย์พอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้
- เสียงจราจรทางบก เช่น รถไฟ รถบรรทุก รถยนต์ วัดได้ค่าระหว่าง 65 - 95 dB (ในกรุงเทพฯ)
- เสียงจากการจราจรทางอากาศ เช่นเสียงเครื่องบินขึ้นลงที่ดอนเมืองวัดได้ระหว่าง 70 - 95 dB
- เสียงการจราจรทางน้ำ เช่น เรือหางยาว เรือยนต์ วัดได้ระดับ 80 -110 dB (มากกว่าเครื่องบินเสียอีก)
- เสียงยายเม้าปากปลาร้า ไม่มีใครกล้าวัดเพราะถูกแกด่ากระเจิงไปเสียก่อน ^_^
- เสียงจากแหล่งชุมชน เมือง ตลาด ย่านการค้า วัดได้ค่าระหว่าง 60 - 70 dB
- เสียงภายในโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทย วัดได้ระหว่าง 60 -120 dB
- เสียงจากเครื่องจักรทางเกษตรกรรม การก่อสร้าง 60 - 120 dB
- เสียงจากอู่ซ่อมรถและเครื่องกล 98 - 110 dB
- เสียงจากแหล่งบันเทิง 10 - 120 dB ขึ้นอยู่กับว่าบันเทิงแบบไหน ถ้าในเท็คก็มากหน่อย
อันตรายและผลกระทบของมลพิษทางเสียง
1.ผลกระทบต่อการได้ยิน แบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ
- หูหนวกทันที เกิดขึ้นจากการที่อยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังเกิน 120 เดซิเบลเอ
- หูอื้อชั่วคราว เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในที่มีระดับเสียงดังตั้งแต่ 80 เดซิเบลเอขึ้นไปในเวลาไม่นานนัก
- หูอื้อถาวร เกิดขึ้นเมื่ออยู่ในบริเวณที่มีระดับความดังมากเป็นเวลานานๆ
2. ด้านสรีระวิทยา เช่น ผลกระทบต่อระบบการหมุนเวียนของเลือด ต่อมไร้ท่อ อวัยวะสืบพันธุ์ ระบบประสาท และความผิดปกติของระบบการหดและบีบลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
3. ด้านจิตวิทยา เช่น สร้างความรำคาญ หงุดหงิด ไม่สบายใจ นอนไม่หลับ เครียด เป็นโรคประสาท ส่งผลต่อการนอนหลับพักผ่อน ผลต่อการทำงานและการเรียนรู้ รบกวนการสนทนาและการบันเทิง
4. ด้านสังคม กระทบต่อการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ขาดความสงบ รบกวนต่อการสื่อสาร รบกวนการทำงาน
5. ด้านเศรษฐกิจ มีผลผลิตต่ำเนื่องจากประสิทธิภาพการทำงานลดลง เสียค่าใช้จ่ายในการควบคุมเสียง
6. ด้านสิ่งแวดล้อม เสียงดังมีผลต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ เช่น ทำให้สัตว์ตกใจและอพยพหนี
แนวทางในการป้องกันมลพิษทางเสียง
1. ควบคุมทางวิศวกรรม เช่น บำรุงรักษาเครื่องยนต์ สร้างวัสดุกันเสียง
2. ควบคุมตรวจสอบปรับปรุงถนนหรือยานพาหนะที่เสียงดัง
3. ออกกฎหมายควบคุมแหล่งกำเนิดเสียง ทุกๆ แห่ง ให้มีเสียงอยู่ในขีดจำกัด
4. ปลูกบ้าน หรือย้ายบ้านหนีไปให้ไกลจากแหล่งกำเนิดเสียง หรือพาตัวออกให้ห่างจากแหล่งกำเนิดเสียง ต้องใช้วัสดุกันเสียงในการก่อสร้าง ปลูกต้นไม้ภายในบ้านบุผนังด้วยวัสดุดูดกลืนเสียงเพื่อลดความดังของเสียง
