
“กรมทรัพยากรธรณี” ประกาศ 2 รอยเลื่อนมีพลังใหม่ล่าสุดในไทยเพิ่ม คือ รอยเลื่อนแม่อิง และรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ ชี้แผ่นดินไหวภูเก็ต 4.3 ริกเตอร์ มาจากรอยเลื่อนแขนงของรอยเลื่อนมีพลังคลองมะรุ่ย ซึ่งพาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา โดยยืนยันว่ายังไม่น่าห่วงต่อผลกระทบอาคารสูง เตือนอาจส่งหลุมยุบตามมาในพื้นที่ภูเก็ต และ จว.ใกล้เคียง
นายนิทัศน์ กล่าวว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวเกิดขึ้นที่บริเวณพื้นที่ตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จึงทำให้ประชาชนในหลายพื้นที่ของจังหวัดภูเก็ตรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน โดยพบมีแผ่นดินไหวตามมา หรืออาฟเตอร์ช็อก ขนาด 2.1-2.7 ริกเตอร์จำนวน 9 ครั้ง ครั้งล่าสุด เมื่อเวลา 12.18 น. มีระดับ 3.1 ริกเตอร์ ขณะเดียวกัน มีรายงานจากสำนักงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย จ.ภูเก็ต ว่า แผ่นดินไหวเมื่อวานนี้ มีบ้านเรือนเสียหายจำนวน 35 หลัง ซึ่งทางกรม ทธ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพื้นที่แล้ว นายนิทัศน์ กล่าวอีกว่า แผ่นดินไหวดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 เม.ย.55 ที่ผ่านมา ได้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.9 และ 8.2 ริกเตอร์นับว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทางชายฝั่งด้านตะวันตกตอนเหนือของเกาะ สุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย และกรมทรัพยากรธรณี ตรวจจับการเกิดอาฟเตอร์ช็อกมากกว่า 40 ครั้ง โดยสาเหตุมาจากการเคลื่อน ตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย-ออสเตรเลีย มุดตัวลงใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย ด้วยอัตราเคลื่อนตัว 70 มิลลิเมตร/ปี ทำให้เกิดแนวรอยเลื่อน ตามแนวระนาบเหลื่อมซ้าย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่บนแนวการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกแบบเดียวกับ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น จึงไม่สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้ แม้ในไทยเองก็มีรอยเลื่อนที่เป็นรอยแตกของแผ่นเปลือกโลกอยู่ แต่ก็สามารถก่อให้เกิดแผ่นดินไหวได้เพียงขนาดเล็ก ส่งผลให้เกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อย ชี้แผ่นดินไหวภูเก็ตมาจากรอยเเลื่อนคลองมะรุ่ย อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุว่า หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงแล้ว จะทำให้เกิดการขยับตัวของแนวรอยเลื่อนใกล้เคียง ซึ่งภาคใต้มี 2 รอยเลื่อนที่กรมทรัพยากรธรณีเฝ้าระวังไว้แล้ว คือ รอยเลื่อนระนอง และรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยกระทั่งช่วงบ่ายวันที่ 16 เม.ย.นี้ เกิดแผ่นดินไหวตามมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน 2 ครั้ง คือ เวลา 16.44 น. ขนาด 4.3 ริกเตอร์ บริเวณ ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต และเกิดอาฟเตอร์ช็อกต่อเนื่อง 5 ครั้ง ขนาด 2.1-2.7 ริกเตอร์ โดยจากการตรวจสอบ พบว่า แผ่นดินไหวที่ภูเก็ต เป็นผลมาจากการเคลื่อนตัวจากแขนงของแนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมซ้ายทางตะวันออกของเกาะภูเก็ต และอีกครั้งเวลา 16.46 น. เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.7 ริกเตอร์ ตอนเหนือเกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย พบรอยเลื่อนมีพลังใหม่อีก นายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรธรณี กล่าวถึง รอยเลื่อนมีพลังในไทยว่า การศึกษาทางธรณีวิทยาล่าสุด พบมีรอยเลื่อนมีพลังใหม่ที่ชัดเจนอีก 2 รอย ได้แก่ รอยเลื่อนแม่อิง พาดผ่าน จ.เชียงราย มาพะเยา โดยการศึกษาทางธรณีสัณฐานทำให้ได้ข้อมูลใหม่ว่ามีร่องรอยการเกิดแผ่นดินไหว ในรอยเลื่อนแม่อิง ขนาด 4 ริกเตอร์กว่าๆ นอกจากนี้ ยังมีรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ ที่ปรากฏแนวรอยเลื่อนวางตัวในแนวเหนือใต้บริเวณขอบของที่ราบเชิงเขา และมีหลักฐานว่า เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5 ริกเตอร์มาแล้ว ขณะที่รอยเลื่อนนครนายก จะขอศึกษาเพื่อยืนยันว่าเป็นรอยเลื่อนที่มีพลังเพิ่มเติมหรือไม่อีก 1 ปี ทั้งนี้ การประกาศรอยเลื่อนมีพลังใหม่เพิ่มอีก 2 รอย และปลอดรอยเลื่อนท่าแขกที่ไม่สามารถศึกษาต่อไปได้ เพราะแนวพาดผ่านไปทางประเทศลาว รวมทั้งไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวในแนวนี้มา 30 ปีแล้ว ดังนั้น เท่ากับขณะนี้กรมทรัพยากรธรณียืนยันรอยเลื่อนมีพลังในไทยรวม 14 แนวแล้ว "สำหรับแนวรอยเลื่อน 13 รอยเลื่อน กระจายอยู่ใน 22 จังหวัดทั่วประเทศ ดังนี้ 1. กลุ่มรอยเลื่อนแม่จัน พาดผ่าน จ.เชียงราย เชียงใหม่ 2. รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่าน จ.แม่ฮ่องสอน ตาก 3. รอยเลื่อนเมย พาดผ่าน จ.ตาก กำแพงเพชร 4. รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่าน จ.เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย 5. รอยเลื่อนเถิน พาดผ่าน จ.ลำปาง และแพร่ 6. รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่าน จ.พะเยา เชียงราย ลำปาง 7. รอยเลื่อนปัว พาดผ่าน จ.น่าน 8. รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่าน จ.อุตรดิตถ์ 9. รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ จ.กาญจนบุรี 10. รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่าน จ.กาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี และตาก 11. รอยเลื่อน ระนองนั้น พาดผ่าน จ.ระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ และพังงา 12. รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่าน จ.สุราษฎร์ธานี กระบี่ และพังงา 13. รอยเลื่อนท่าแขก จ.หนองคาย และนครพนม ซึ่งจะปลดออก และมีรอยเลื่อนแม่อิง กับรอยเลื่อนเพชรบูรณ์ บรรจุในแผนที่เสี่ยงแผ่นดินของไทยเพิ่มเติมในปี 2555" นายเลิศสินระบุ เตือนเกิดหลุมยุบตามมา ด้านนายทินกร ทาทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี จากการตรวจสอบพบว่าแผ่นดินไหวที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ไม่ได้เกิดบนแนวรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยที่อยู่ใกล้กับฝั่งตะวันออกของเกาะ ภูเก็ต ซึ่งดูจากจุดศูนย์กลางที่เกิดแผ่นดินไหวของ อ.ถลาง และอาฟเตอร์ช็อกระดับ 2.7-3 ริกเตอร์กว่าๆ พบว่า แนววางตัวของรอยเลื่อนตั้งฉากกับรอยเลื่อนคลองมะรุ่ยขึ้นไปทางบนเกาะภูเก็ต ด้านตะวันออก รวมทั้งสนามบินภูเก็ตอยู่ด้วย ทั้งนี้ ยอมรับว่าการเกิดแผ่นดินไหวในภาคใต้ ไม่ได้เหนือความคาดหมายเพราะก่อนหน้านี้กรมทรัพยากรธรณี ได้เฝ้าระวังแนวรอยเลื่อนทางภาคใต้ 2 รอยได้แก่ รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย และรอยเลื่อนระนอง เพราะเป็นปกติที่ต้องมีการขยับตัวตาม มาจากพลังงานที่ถูกส่งถ่ายแรงเข้ามาจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ แต่อาจจะผิดคาดเพราะการขยับไปเกิดในรอยแขนง ทั้งนี้ ก็ยังไม่ถือว่าผิดปกติ เพราะถือว่าเกิดในแนวแขนงของรอยเลื่อนคลองมะรุ่ย โดยหลังจากนี้ ก็อาจจะมีการขยับจะขึ้นๆ ลงๆ และค่อยๆ เบาลงไป นอกจากนี้ ในภาคใต้ที่มีสภาพธรณีวิทยาเป็นหินปูน ก็ต้องเฝ้าระวังการเกิดหลุมยุบตามมาอีกด้วย โดยเฉพาะเกิดบ่อยที่กระบี่ ตรัง สตูล และกาญจนบุรี เป็นต้น "ถ้าเกิดแผ่นดินไหวระดับ 3-5 ริกเตอร์ จะทำให้บ้านที่มีโครงสร้างบ้านไม่แข็งแรง อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากแรงสั่นสะเทือน เกิดรอยร้าวได้ แต่โครงสร้างอาคารบ้านเรือนขนาดใหญ่ที่ออกแบบรองรับแรงสั่นสะเทือนแผ่นดิน ไหวไม่น่าเป็นห่วง จึงไม่อยากให้เกิดความแตกตื่น" อย่างไรก็ตาม ในอดีตหลังแผ่นดินไหวขนาด 9.1 ริกเตอร์ และทำให้เกิดสึนามิในปี 2547 นั้น รอยเลื่อนทั้ง 2 รอยขยับตัวขึ้นเป็นระยะ แต่เป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กมี 3 ครั้ง ช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา มีแผ่นดินไหว 2 ครั้งที่คนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน คือ วันที่ 23 ธ.ค. 2551 ขนาด 3.2 ริกเตอร์ที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และครั้งล่าสุด 20 ก.พ. 2555 ขนาด 2.7 ริกเตอร์ ที่บ้านทับปุด อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา นอกจากนี้ ยังเคยเกิดแผ่นดินไหวในทะเลขนาด 5 ริกเตอร์ตะวันออกของ อ.สามร้อยยอด ประจวบคีรีขันธ์ช่วงปี 2549 ซึ่งเกิดในพื้นที่อ่าวไทยแต่เป็นรอยเชื่อมต่อของรอยเลื่อนระนอง นายทินกรระบุ ที่มา http://www.suthichaiyoon.com/detail/27514
