อากาศเสียเกิดจากโรงงานขนาดย่อย (Power Plants)
โพสเมื่อ : 24 ม.ค. 55
โรงงานขนาดย่อม  ที่ใช้พลังงานเครื่องยนต์เป็นตัวขับเคลือบ มักจะทำให้อากาศเสีย ปนเปื้อนด้วยฝุ่นละอองที่เกิดจากการบด การโม่ การป่นหิน หรือสินแร่  พวกนี้จะทำให้เกิดฝุ่นละอองฟุ้งกระจายลอยขึ้นสู่บรรยากาศ  เช่น โรงงานทำปูนซีเมนต์ โรงงานบดโม่หิน โรงงานทำแก้ว โรงงานทำปูนขาว โรงงานทอผ้า การทำเหมืองแร่ซึ่งมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ  ยังผลให้เกิดโรคแก่คนที่สูดหายใจเอาฝุ่นเข้าไปได้  แม้ว่าร่างกายของคนเราจะมีกลไกสำหรับทำความสะอาดอยู่หลายอย่าง เช่น
        1. มีขนในรูจมูก เป็นเครื่องกรองดักจับฝุ่นละออง
        2. มีน้ำมูกข้นๆ ในจมูก และน้ำเมือกในลำคอ ในหลอดลม ลงไปไว้ดักจับละอองขนาดเล็กๆ ที่ผ่านจากการกรองของขนจมูกไม่ได้
        3. มีขนเส้นเล็กๆที่เรียกว่า ซีเลีย (Cilia) มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น จำนวนนับสิบๆล้าน ตลอดทางลมเข้าออก ขนเหล่านี้โบกขึ้นลงในอัตรา 12 ครั้งต่อวินาที  พัดพาเอาน้ำเมือกที่เกาะละอองของสกปรกไว้ขึ้นมาที่คอ เป็นเสมหะ ซึ่งคนอาจขากออกมาหรือกลืนลงกระเพาะไปก็ได้

        เมื่อเราหายใจเอาฝุ่นละออง สารพิษ ก๊าซพิษหรือสิ่งสกปรกต่างๆ เข้าใป ขนเล็กๆเหล่านี้ก็จะเป็นอัมพาตชั่วคราว แต่ถ้าได้รับอยู่นานๆ ซ้ำๆซากๆ เป็นปีๆ ขนก็จะตาย ตายแล้วไม่งอกขึ้นมาใหม่ เป็นเหตุให้ฝุ่นละอองผ่านลงไปถึงถุงลมได้  ก็จะไปทำลายเยื่อหลอดลม ทำให้ผนังหลอดลมหนา ขับเสมหะออกมาจากการถูกระคายเคืองมากขึ้น  ถุงลมจะเสียความยืดหยุ่น บีบตัวไล่อากาศเสียออกไม่หมด เกิดการคั่งของลมในปอด ทำให้ถุงลมโป่งพอง หายใจลำบาก มีเสียงเป็นอาการที่เรียกว่า "โรงถุงลมพอง" (Emphysema)  จะทำให้การถ่ายเทหรือฟอกโลหิตไม่สะดวก จะมีผลไปถึงหัวใจ  เพราะการโป่งของถุงลมเบียดเส้นเลือดที่เข้าไปเลี้ยงปอดด้วย  หัวใจก็ทำงานหนักเกิดอาการหัวใจโต แม้คนเราจะมีถุงลมอยู่ประมาณ 25 ล้านถุง  ซึ่งเมื่อแผ่ออกจะมีพื้นที่กว้างครึ่งสนามเทนนิส  ถ้ามีฝุ่นละอองเข้าไปอยู่เต็มก็อาจทำให้ปอดแข็งกลายเป็นหินได้  เรียกโรคนี้ว่า "โรคซิลิโคซิส"  (Silicosis)

        โรคซิลิโคซิส (Silicosis) 

        เกิดจากการหายใจเอาฝุ่นละอองเล็กๆ ของผลึกซิลิกา  (Silica)  หรือซิลิกอนไดอ๊อกไซด์  (Silicondioxide) หรือฝุ่น ทรายอื่นๆ เข้าไปในปอดถึงถุงลม เกิดเป็นเยื่อพังผืดเป็นจุดเล็กๆ ในปอด  ทำให้อาการหายใจหอบเหนื่อย ทรวงอกขยายตัวได้น้อยลง  ทำงานเหนื่อยง่าย  ไม่มีไข้พวกนี้ทำให้มีโรคแทรก  เช่น วัณโรคได้ง่ายกว่า  การเข้าสู่ร่างกาย  ฝุ่นหินทราย  สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยทางหายใจ  ขนาดฝุ่นละอองที่มีความสำคัญทำให้เกิดโรคซิลิโคซิส ได้ต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 10 ไมครอน เท่านั้นที่คนเราสามารถหายใจเข้าไปในปอดได้  (ไมครอน เป็นหน่วยวัดความยาวซึ่งเท่ากับ 1/1000 มม.)และขนาดฝุ่นที่มีอันตรายต่อปอดมากที่สุดคือ  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 1-3 ไมครอน (ซึ่งเทียบขนาดได้เท่ากับ 1/1000 ของความหนาของขนตาของคนเรา)  ฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ถ้าคนเราสูดเอาฝุ่นเข้าไปอยู่เสมอๆ แล้วก็จะเป็นอันตรายต่อปอด  ทำให้เกิดโรคอันเนื่องจากฝุ่นหินทราย หรืออาจเกิดวัณโรคแทรกซ้อน  ทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงแก่ความตายได้

         ผลของฝุ่นหินทรายที่มีต่อปอด  ขนาดของฝุ่นที่เล็กกว่า 5 ไมครอนเท่านั้น  ที่สามารถผ่านลงไปถึงหลอดลมขนาดเล็กจนถึงถุงลมได้  โตกว่านี้ร่างกายของมนุษย์จะขจัดออก เช่น ถูกกรองจากจมูก หลอดลมส่วนต้นและที่ปอดถูกเป่าออกมา  ฝุ่นขนาดเล็กๆ ที่สามารถไปถึงถุงลมนี้ จะทำให้บริเวณหลอดลมขนาดเล็กและถุงลมอักเสบนี้  บางส่วนสามารถซึมผ่านเนื้อเยื่อเข้าไปได้และเข้าสู่ทางเดินน้ำเหลืองก่อให้เกิดอักเสบบริเวณนั้นๆ
เมื่อเป็นมากจุดเนื้อเยื่อพังผืดเล็กๆ อาจจะขยายตัวออกไป  ทำให้เนื้อส่วนดีของปอดน้อยลง  ทำให้ปอดทำงานได้ไม่เต็มที่

 อาการของโรคซิลิโคซิส    แบ่งเป็น 2 แบบ คือ

        แบบฉับพลัน (Acute)  ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนงานในโรงงานที่เกี่ยวกับหินทราย เป็นโรงงานที่ปิดมิดชิด การระบายอากาศไม่ดีมีทรายฟุ้ง และเกิดกับคนงานเจาะหรือบดแร่ เช่น ที่เขาศูนย์ อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ระยะเวลาที่ทำให้เกิดอาการตั้งแต่ 8-10 เดือน โดยมีอาการหายใจขัดแน่น อัดอัด ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำเนื่องจากการขาดออกซิเจน หายใจเร็วขึ้น หอบ
        ชนิดเรื้อรัง มักพบในคนโรงงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ โรงงานเครื่องปั้นดินเผา โรงงานหล่อหลอมเหล็กโลหะ  โรงโม่หิน  โรงทำกระเบื้อง โรงงานผลิตแก้ว และเครื่องปั้นดินเหนียว อาการเริ่มแรกตรวจไม่พบสิ่งปกติ เป็นมากขึ้นจะมีอาการหายใจขัดมีอาการหอบและช่วงของการหายใจจะสั้น เมื่อมีอาการแรงมากๆ เมื่อเป็นมากขึ้นการหายใจขัดก็มากขึ้น  แม้จะออกแรงเพียงเล็กน้อยก็ตามเกิดอาการไอ เจ็บหน้าอก รู้สึกอ่อนเพลีย หัวใจต้องทำงานมากขึ้นเพื่อฉีดโลหิตไปเลี้ยงเส้นเลือดฝอยที่ปอดซึ่งมีเนื้อเยื่อเหนียวจับอยู่อาจตาย เนื่องจากหัวใจทำงานหนักเกินไป  ระยะเวลาที่เกิดชนิดเรื้อรังประมาณ 5-10 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณของฝุ่นและความอ่อนแอของแต่ละคนด้วย



ที่มา : รวบรวมจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.วิจิตร บุณยะโหตระ ,ชีวิตและสิ่งแวดล้อม