นายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ในฐานะผู้ดูแลด้านปศุสัตว์ ได้มีการเตรียมการรองรับปัญหาจากการขาดแคลนเสบียงสัตว์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรโดยมอบให้กองอาหารสัตว์เป็นผู้รับผิดชอบ จัดทำแผนการผลิต และกำหนดวิธีการช่วยเหลือ แบ่งเป็น การผลิตเสบียงสัตว์สำรองในหน่วยงาน ผลิตโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ และสถานีพัฒนาอาหารสัตว์ 29 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งสามารถสนับสนุนเกษตรกรได้ทันที โดยได้จัดสรรและสำรองหญ้าแห้งให้หน่วยงานต่างๆ ไว้ใช้ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ อาทิ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด 2,079 ตัน สำนักสุขศาสตร์สัตว์และสุขอนามัยที่ 1 - 9 จำนวน 942 ตัน และสำรองไว้ในคลังเสบียงสัตว์ของกองอาหารสัตว์ 1,067 ตัน
ทั้งยังมีโครงการสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตเสบียงสัตว์สำรอง โดยในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก หรือแห้งแล้งซ้ำซาก กรมปศุสัตว์จะส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในพื้นที่เหล่านั้น ให้ผลิตเสบียงสัตว์ ไว้ใช้เองในยามขาดแคลน โดยจะนำเครื่องจักรกลการเกษตร อาทิ รถแทรกเตอร์ เครื่องอัดหญ้าแห้ง ฯลฯ ออกไปสนับสนุน แต่เกษตรกรต้องเตรียมวัสดุมาเอง เช่น ฟางแห้ง หญ้าแห้ง ลวดอัดหญ้า และน้ำมันเชื้อเพลิง โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรที่เลี้ยงโคกระบือเป็นอย่างดี บางแห่งถึงกับรวมตัวกันของบประมาณสร้างโรงเก็บหญ้าแห้งถาวรจาก องค์การบริหารส่วนตำบล เช่น กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงโคนมจังหวัดพัทลุง เป็นต้น
"การให้ความช่วยเหลือหลังจากการสำรวจกรณีทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์เสียหาย ตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2552 สำหรับแปลงหญ้าเลี้ยงสัตว์สาธารณะที่ได้รับความเสียหายและจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพให้ดำเนินการช่วยเหลือพันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ ในปริมาณที่สอดคล้องกับขนาดของพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย และใช้เมล็ดพืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กิโลกรัม ส่วนแปลงหญ้าส่วนตัวของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายและจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพให้ดำเนินการช่วยเหลือพันธุ์พืชอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่นั้นๆ ในปริมาณที่สอดคล้องกับขนาดพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย แต่ไม่เกินรายละ 20 ไร่ และใช้เมล็ดพันธุ์พืชอาหารสัตว์ไม่เกินไร่ละ 2 กิโลกรัม" นายปรีชา กล่าว