ขยะมีบุญ
โพสเมื่อ : 5 ก.พ. 63

ขยะมีบุญ thaihealth

 

 

 

เดือนกว่า ที่ประเทศไทยเริ่มลดใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นมา โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าปริมาณการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วในประเทศไทยมีจำนวนมหาศาลถึง 45,000 ล้านใบต่อปี เมื่อดีเดย์มาตรการดังกล่าวคาดว่าส่งผลให้ปริมาณขยะที่ต้องนำไปกำจัดลดลง 225,000 ตันต่อปี หน่วยงานภาครัฐประหยัดงบประมาณในการจัดการขยะมูลฝอยได้ 340 ล้านบาทต่อปี ประหยัดพื้นที่รองรับและกำจัดขยะมูลฝอยในการฝังกลบได้ประมาณ 616 ไร่

ถือเป็นที่น่าชื่นชมที่เราเห็นหลายคนเริ่มตระหนักถึงปัญหาขยะ เราจะเห็นแฟชั่นถุงผ้าหลากหลายแบบ รวมถึงการประยุกต์ใช้ภาชนะอื่นๆ ไปใส่ของแทนถุงพลาสติก แต่จะดีกว่าไหม หากเราสามารถจัดการปัญหาขยะได้ตั้งแต่ต้นทางไปยังปลายทาง และสามารถสร้างมูลค่าของสิ่งของที่ใช้แล้ว

ขยะมีบุญ thaihealth

‘ขยะมีบุญ’ หนึ่งในโครงการที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาชุมชน ของเทศบาลตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ภายใต้โมเดลมหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ สสส.เป็นหน่วยหนุนเสริมและสนับสนุนการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน ทำให้เป็นพื้นที่น่าอยู่

โครงการ ‘ขยะมีบุญ’  มัสยิดดาหรนอาหมัน เทศบาลตำบลปริก หมู่ที่ 4 อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา  มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการทำให้มีการนำหลักการเรื่องความสะอาดสู่การปฏิบัติจริงเป็นรูปธรรม ให้พี่น้องในชุมชนได้เกิดการเรียนรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแยกขยะ  ให้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการดำเนินกิจกรรมต่างๆของชุมชน และสร้างความรักและความสัมพันธ์อันดีของพี่น้องในชุมชน

ขยะมีบุญ thaihealth

การจัดการขยะ ในส่วนของมาตรการของภาครัฐเพียงอย่างเดียวบางทีอาจจะได้ผลไม่มากนัก ทางมัสยิดจึงนำหลักธรรมเรื่องบุญเข้ามาเชื่อมโยง โดยนายสุรินทร์ บินล่าเต๊ะ หรือ ครูหมาน เลขานุการมัสยิดดาหรนอาหมัน เล่าว่า  พี่น้องในชุมชนนำขยะมาถือเป็นการบริจาคให้แก่มัสยิด มัสยิดนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในภารกิจต่างๆ พี่น้องได้รับบุญในส่วนนั้น พี่น้องหลายคนบอกว่าขยะราคา 50-100 บาท มันก็ไม่ใช่เงินที่มากมายอะไร แต่ถ้าเกิดว่า นำมารวมกันที่มัสยิด หลายๆ คน เกิดเป็นหลักพันขึ้นมา ก็สามารถนำไปใช้อะไรได้เยอะ  

ครูหมาน เล่าต่อว่า ภารกิจหนึ่งของมัสยิดคือ การส่งเสริมเรื่องการศึกษา เพราะมัสยิดมีแนวคิดว่าการที่เราจะทำโครงการต่างๆ  ผลักดันให้ชุมชนพัฒนา เราต้องเริ่มจากการศึกษา ดังนั้น เราจึงอยากปลูกฝังในเรื่องของจิตอาสาในการที่จะช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือชุมชน โดยผ่านกิจกรรมของเราผ่านการช่วยคัดแยกขยะ เป็นการบอกต่อภารกิจแห่งความดี ชักชวนเพื่อนๆในชุมชน มาบริจาคและคัดแยกขยะ โดยจัดกิจกรรม 1 เดือน / 1 ครั้ง โดยในบางครั้งมีมูลค่าขยะกว่า 8,000 บาท

“ จริงๆ ขยะเหล่านี้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีอยู่กับผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ตราบใดที่ทุกคนยังต้องบริโภคสิ่งเหล่านี้อยู่ เมื่อก่อนอาจต้องทิ้งรวมกัน ในถังขยะของเทศบาล และไปยังบ่อกำจัดขยะเป็นภาระให้กับพนักงานเทศบาล ตรงนี้คือการให้ชุมชนรู้จักการคัดแยกขยะ สิ่งไหนควรทิ้ง สิ่งไหนไม่ควรทิ้ง ในขณะเดียวกันก็ได้บุญด้วย “ ครูหมาน กล่าว

ขยะปัจจุบันมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ถังขยะเปียก/ย่อยสลายง่าย ถังขยะทั่วไป  ถังขยะรีไซเคิล และถังขยะอันตราย

1.ถังขยะเปียก/ย่อยสลายง่าย โดยคัดแยกเศษอาหารออกจากขยะที่เป็นเศษกิ่งไม้ใบไม้ ซึ่งสามารถนำไปทำปุ๋ยหมักได้หากขยะมีลักษณะแหลมมาก อย่างเช่น ไม้ลูกชิ้น ให้หักก่อนทิ้ง จัดหาภาชนะที่มีฝาปิด เพื่อไม่ให้สัตว์นำเชื้อโรคเข้าไปแพร่เชื้อ

2.ขยะทั่วไป หากไม่แยก ขยะทั่วไปส่วนใหญ่จะถูกนำไปฝังกลบเพราะไม่คุ้มค่าที่จะนำไปใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิลได้ ดังนั้น เมื่อจะแยกก็ต้องแยกออกมาอย่างชัดเจน ห้ามทิ้งเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล และขยะจากสวนลงไปรวมกับขยะทั่วไป

3.ถังขยะรีไซเคิล โดยแยกชนิด สี ประเภทของขยะรีไซเคิลออกจากกันเพื่อสะดวกในการใช้งานหรือขยาย ขยะรีไซเคิลบางชนิดทำให้แบนได้ เพื่อประหยัดเนื้อที่และเก็บได้สะดวก แยกขยะรีไซเคิลที่แตก และสภาพดีออกจากกัน

4.ถังขยะอันตราย หากไม่แยก  อาจทำให้เกิดอันตรายได้ โดยแยกขยะอันตรายแต่ละประเภทออกจากกัน ไม่มัดรวมและควรสวมถุงมือเพื่อป้องกันสารพิษ ระวังไม่ให้แตกหักเพราะสารเคมีอาจเข้าสู่ร่างกาย แยกขยะใส่ถุงและไว้ให้ห่างจากห้องครัว พื้นที่ที่มีเด็ก ขยะไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กมองไม่เห็น ควรกรองด้วยถุงกรองให้เศษต่างๆ รวมกัน

ขยะมีบุญ thaihealth

นายมณี เด็นหมัด อายุ 41 ปี ครูโรงเรียนพัฒนาศาสตร์มูลนิธิ เล่าว่า  ส่วนใหญ่เอาขวดน้ำ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติก ขวดแก้วและของที่เหลือจากครัวเรือน ก่อนหน้านี้ก็ขายเอง รายได้เข้าส่วนตัว แต่พอมัสยิดมีโครงการนี้ขึ้นมา ถือเป็นการทำบุญไปด้วย เพราะบางคนไม่มีโอกาส และไม่มีเงิน แต่พอมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้น ขยะที่เหลือจากที่บ้าน ทุกคนก็เริ่มที่จะเอามาให้ เพราะถือโอกาสทำบุญไปด้วย ซึ่งโครงการนี้ดีมาก เพราะเกิดความสามัคคี และขยะในบ้านก็น้อยลง มาเข้าร่วมทุกครั้ง ส่วนขยะที่ขายไม่ได้ก็หาวิธีจัดการเอาเอง ช่วยให้สะอาดสะอ้านและก็มาช่วยแยกขยะด้วย ได้ใส่ความรู้ภาคปฏิบัติให้เด็กเหล่านี้ด้วย

ขยะมีบุญ thaihealth

เช่นเดียวกับ นางสาวนุสรา หมัดเบ็ญยุโส๊ะ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนพัฒนศาสตร์มูลนิธิ เล่าว่า มักจะมาช่วยจัดการขยะและแยกขยะอยู่เสมอ เพราะเกิดความสนุกสนานในการแยกขยะกับเพื่อนๆ ซึ่งปกติก็จัดการขยะที่โรงเรียนอยู่แล้ว และการมาช่วยมัสยิดก็เป็นกิจกรรมที่ทำต่อเนื่องมาจากโรงเรียน โดยเรียนรู้การแยกขยะประเภทต่างๆ จากคุณครูในโรงเรียน คิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ดีเพราะช่วยสร้างรายได้ให้กับมัสยิดในการบริหารจัดการค่าน้ำ ค่าไฟ  อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ไม่ว่าจะเป็นขยะ แต่พอมารวมกันก็มีมูลค่าและทำให้ช่วยลดภาระของมัสยิดได้ ถึงแม้จะเล็กน้อยแต่ทำแล้วเราก็ได้บุญและความสบายใจ

ขยะยิ่งแยก ยิ่งได้ ได้ลดค่าใช้จ่าย ได้เงิน ได้ความสะอาด ได้สุขภาพ และได้ลดความเสี่ยง นับว่าการแยกขยะ เป็นการจัดการปัญหาขั้นพื้นฐานที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ เช่นเดียวกับ เทศบาลตำบลปริก ที่มีแนวคิดเรื่อง การจัดการขยะฐานศูนย์ ตั้งแต่ต้นทาง-กลางทาง-ปลายทาง ใครจะรู้ว่าขยะอันไร้ค่า หากจัดการดีๆ นำมาซึ่งมูลค่าและได้บุญอีกด้วย สสส. ขอร่วมรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก และหันมาใช้ถุงผ้ากันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อลดปริมาณขยะจากถุงพลาสติก ที่เป็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

 

ขยะมีบุญ thaihealth