
“Low Carbon Society” แนวทางลดภาวะโลกร้อน
โพสเมื่อ : 10 ต.ค. 60
ปัญหาภาวะโลกร้อน (Global warming) เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกกำลังให้ความ สนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นเริ่มส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสูงขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลก การละลายของน้ำแข็งขั้วโลก และการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างฉับพลัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนมีลักษณะเป็นห่วงโซ่ ส่งผลกระทบต่อกันเป็นทอดๆ โดยปลายห่วงโซ่ที่เกิดขึ้น คือ มนุษย์และสิ่งมีชีวิตในโลก เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของมนุษย์ ทำให้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น เกิดการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกและหิมะที่ปกคลุมภูเขาสูง ทำ ให้ระดับน้ำทะเลปานกลางสูงขึ้น สร้างความเสียหายให้แก่ระบบนิเวศทางทะเล และประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณชายฝั่ง การที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นและความไม่แน่นอนของภูมิอากาศทำให้เกษตรการเกิดความยากลำบากในการปลูกพืชผล เป็นต้น
หากเราพิจารณาถึงต้นเหตุของปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้น เราจะพบว่าสาเหตุนั้นเกิดจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ออกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมหาศาล จากรายงานของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) พบว่าในปี 2009 ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นจากปี 1973 ถึง 36 % โดยเพิ่มขึ้นจาก 280 PPMV (parts per million by volume) เป็น 387 PPMV โดยประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ตามลำดับ เรื่องที่น่าวิตกคือ ประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว เช่น จีน อินเดีย อินโดนีเซีย อียิปต์ อิหร่าน และประเทศไทย มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งอาจจะมีสาเหตุจากการที่ประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วใช้การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจ
จากปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นทำให้เกิดการตื่นตัวในการหาทางแก้ปัญหาในการประชุมในเวทีสิ่งแวดล้อมโลก ไม่ว่าจะเป็น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (The United Nations Framework Convention on Climate Change –UNFCCC)ในปี ค.ศ. 1992 พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ในปี 1997 จนกระทั่ง การประชุมนานาชาติที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (COP-15) ในปี 2009 ต่างมีการเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งทำให้ประเด็นเรื่อง“สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)” ถูกหยิบยกมาพูดอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ ทั้งในสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และอาเซียน ว่าเป็นแนวทางการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน ดังแนวคิด Building a low Carbon Society ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่น ในปี 2007 ว่าหากประเทศต่างๆทั่วโลกมีเป้าหมายในการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงครึ่งหนึ่งจากระดับปัจจุบันในปี 2050 จะต้องดำเนินการตามแนวคิด “สังคมคาร์บอนต่ำ” ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
Carbon Minimization in all sectors : ทุกภาคส่วนในสังคม ควรมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่ธรรมชาติสามารถดูดซับได้ ซึ่งการจะดำเนินการให้เป็นไปตามหลักการดังกล่าวจำเป็นต้องมีระบบของสังคมเพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถตัดสินใจและเลือกที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย มาตรการหรือกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของภาครัฐบาล การปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำของภาคอุตสาหกรรม และการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าที่แสดงฉลากข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์ ของภาคประชาชน
Toward a Simpler life style that realize richer quality of life : การลดการบริโภคที่เกินความจำเป็น (Mass Consumption) เปลี่ยนเป็นการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย แต่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของมนุษย์ในการเลือกสินค้าและบริการ สร้างสังคมที่เห็นความสำคัญของความสงบสุข ครอบครัว สุขภาพที่แข็งแรง เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี
Coexistence with Nature : การที่มนุษย์และสังคมเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ ดังนั้นการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติของมนุษย์ พร้อมทั้งบำรุงรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจึงมีสำคัญในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และลดภาวะโลกร้อน
แนวทางการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนในนานาประเทศที่ผ่านมายังไม่ค่อยประสบผลสำเร็จมากนัก เนื่องจากทุกประเทศต่างมองเรื่องการค้าและผลประโยชน์ของประเทศตนเองเป็นสำคัญ แต่แนวทางการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยแนวคิด “Low Carbon Society” ถูกมองว่าเป็นแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและภาคบริโภคของประชาชน และสามารถประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งอยู่บนพื้นฐานของการใช้หลักของทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้แนวคิดระบบการตลาดมาช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นแนวทางการแก้ปัญหาอย่างครบวงจรทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การค้า สังคม และพฤติกรรมมนุษย์ จึงเป็นน่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้ทุกประเทศพอใจ
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความความสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในปี 2552 ไทยมีรายได้จากการส่งออกสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นเงิน 6,498 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีตลาดส่งออกหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน และญี่ปุ่น ซึ่งการที่ประเทศในกลุ่มลูกค้าหลักของไทยมีมาตรการและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมออกมามากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยประสบกับปัญหาการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้สีและสารเคมีค่อนข้างมากในกระบวนการผลิต มีสัดส่วนการใช้น้ำและพลังงานสูง ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมาก เช่น การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ 2006 มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3.1 ล้านตัน มีการปล่อยของเสีย 2 ล้านตันต่อปี และปล่อยน้ำเสีย 70 ล้านตันต่อปี
ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ใช้หลักการของ “สังคมคาร์บอนต่ำ” และฉลากสิ่งแวดล้อมเป็นเครื่องมือกระตุ้นให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคเลือกผลิตและบริโภคสินค้าสิ่งทอที่มีคาร์บอนต่ำ ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ การใช้กลไกลตลาดคาร์บอน (Carbon market) ผ่านการซื้อขายคาร์บอน (Carbon Trade) ภาษีคาร์บอน (Carbon tax) และ ฉลากคาร์บอน (Carbon label) เป็นต้น
ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์เป็นฉลากคาร์บอนประเภทหนึ่งที่แสดงข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละขั้นตอนของการผลิตของผลิตภัณฑ์ตลอดวัฏจักรชีวิต ตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง การใช้งาน จนถึงการจัดการหลังหมดอายุแล้ว ซึ่งฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์สามารถนำมาเป็นเป็นเครื่องมือทางการตลาดอย่างหนึ่งที่ผู้ผลิตและผู้ขายสินค้าสิ่งทอสามารถนำมาประชาสัมพันธ์ถึงความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน สร้างความตื่นตัวของสังคม และสร้างจุดขายที่เหนือกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรป ซึ่งมีแรงผลักดันและขานรับแนวคิดเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกลุ่มผู้ขายปลีกสิ่งทอในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป นำไปสู่นโยบายการจัดซื้อผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นการกระตุ้นให้ผู้ผลิตปรับปรุงกระบวนการผลิต พัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยพิจารณาตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์
สำหรับผู้ผลิต การวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ทำให้ทราบว่าปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการผลิต ผลการวิเคราะห์คาร์บอนฟุตพริ้นท์ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอทำให้สามารถจำแนกประเด็นปัญหาหลักและลำดับความสำคัญสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงกระบวนการผลิต ลดการใช้น้ำและพลังงาน ลดการใช้สีและสารเคมีที่ก่อให้เกิดมลพิษ รวมทั้งการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมโดยตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ การแสดงข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์แสดงความตั้งใจในความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดจนเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ซื้อและผู้บริโภคในการมีส่วนร่วมในการช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน โดยมีแนวโน้มที่กลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าสิ่งทอรายใหญ่ในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้ารายของสหภาพยุโรป เช่น Tesco และ Marks and Spencer มีแผนจัดทำข้อมูลบอกปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้าแต่ละชนิด และกำหนดแผนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงร้อยละ 80 ให้ได้ภายใน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2550 ผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม Patagonia ได้รณรงค์และจัดทำแผนการจัดเก็บข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และนำไปสู่การจัดการเพื่อลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ นอกจากนั้น ผู้ซื้อสินค้าเสื้อผ้าคอตตอนรายใหญ่โดยเฉพาะในสหภาพยุโรป ยังผลักดันให้ผู้ผลิตสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในเครือข่ายห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าสิ่งทอในทวีปเอเซียที่เป็นแหล่งผลิตหลักต้องติดฉลากข้อมูลบอกปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของสินค้าสิ่งทอเพื่อตอบสนองนโยบายการค้าและแรงกดดันในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดซ์ออกไซด์
กรณีผู้บริโภค ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอทำให้ทราบข้อมูลปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นการสร้างความตระหนักถึงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเนื่องมาจากการบริโภคของตนเอง เป็นการกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภคผลิตภัณฑ์สิ่งทอเพื่อช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และแสดงถึงความร่วมมือในการลดภาวะโลกร้อน
ที่มา : https://readlover.wordpress.com/2013/05/28/low-carbon-society/
