รู้จัก CDM กลไก "ลดโลกร้อน" ผ่านโมเดล "อูเบะ"
โพสเมื่อ : 25 พ.ค. 54
            มีความพยายามอย่างยาวนานของประเทศนานาชาติที่ต้องการลดปัญหาโลกร้อน ภายใต้องค์การสหประชาชาติ จึงได้ร่วมลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งใช้ชื่อว่า พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol)หากแต่หลายปีที่ผ่านมาเรื่องเหล่านี้มักไปไม่ถึงปลายทางเท่าที่ควรจะเป็น สหประชาชาติซึ่งถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ จึงมองว่าจำเป็นต้องใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงและเป็นรูปธรรม จึงเกิด "กลไกการพัฒนาที่สะอาด" ที่แปลมาจาก clean development mechanism หรือ CDM ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศ

            โดยบริษัทหรือองค์กรในประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าร่วมโครงการและสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้จะสามารถขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทในประเทศพัฒนา ซึ่งไม่เพียงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในแนวคิดCSRที่มุ่งเน้นการแสดงความรับผิดชอบที่ต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตภายใน แต่ในขณะเดียวกันการลงทุนเทคโนโลยีที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบการผลิต นั้นยังสามารถสร้างรายได้ให้กับองค์กรกลับคืนมาด้วย เป็นวิน-วิน เกม ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งกับโลก บริษัทในประเทศกำลังพัฒนา และบริษัทในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งแม้ว่าจะต้องลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แต่ไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ

             ดร.จิรัญญา พิชิตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอูเบะ (ประเทศไทย) บริษัทปิโตรเคมีสัญชาติญี่ปุ่นที่ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในไทย ซึ่งเพิ่งประกาศลงทุนกว่า 120 ล้านบาทไปเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ และถือเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่นำกลไก CDM มาใช้ กล่าวว่า กลุ่มบริษัท อูเบะ (ประเทศไทย) โดยบริษัท คาโปร แลคตัมไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมมือกันกับบริษัทมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ประเทศ ญี่ปุ่น พัฒนาโครงการลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O Reduction Project) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตสารคาโปรแลคตัม

             โดยนำเทคโนโลยีอันทันสมัยด้วยงบประมาณลงทุนกว่า 120 ล้านบาท โครงการดังกล่าวจะเปลี่ยนก๊าซไนตรัสออกไซด์ไปเป็นก๊าซไนโตรเจนและออกซิเจน ซึ่งเป็นก๊าซที่มีอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติก่อนจะปล่อยออกสู่บรรยากาศ คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ออกสู่บรรยากาศลงได้ถึง 550 ตันต่อปี หรือเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 170,000 ตัน ที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้าขนาด 40 เมกะวัตต์ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวของบริษัทคาโปรแลคตัม ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ทั้งนี้บริษัทจะเริ่มดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องจักรหลังจากนี้ทันที และ คาดว่าดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี2551การทำงานครั้งนี้แทบจะเรียกได้ว่าแม้จะเป็นการลงทุนมหาศาลแต่บริษัทแทบไม่ต้องควักกระเป๋า เพระาหลังจากที่องค์การสหประชาชาติรับรองการเข้าร่วมโครงการ CDM บริษัทสามารถดำเนินการซื้อขายคาร์บอนเครดิตล่วงหน้าได้ทันที การเดินตามรอย CDM จึงเป็นแรงจูงใจหนึ่งของบริษัทในการลดโลกร้อนที่สามารถเกิดขึ้นจริงอย่างเป็นรูปธรรม  

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ