
จากกรณีท่อส่งน้ำมันดิบกลางทะเลของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) เกิดอุบัติเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลกว่า 70 ตัน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ห่างจากท่าเรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ประมาณ 18 กิโลเมตร ซึ่งพบว่ามีคราบน้ำมันในทะเลหลงเหลืออยู่มาก แม้ว่าจะมีเข้าควบคุมและสลายคราบน้ำมันในทะเลแล้วก็ตาม และล่าสุดพบว่าคราบน้ำมันในทะเลเข้าสู่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง จนทางจังหวัดจึงประกาศให้เกาะเสม็ดเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ และห้ามนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำทะเลจนกว่าสถานการณ์จะปกติ โดยคาดว่าต้องใช้เวลาประมาณ 15 วันถึงจะเข้าสู่สภาพปกติ
คราบน้ำมันในทะเล ถือว่าเป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงทางทะเล ซึ่งการเกิดน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเลที่ร้ายแรงที่สุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2553 ที่อ่าวเม็กซิโก ของบริษัท BP ซึ่งแม้ในตอนนี้ก็ยังคงหลงเหลือความเสียหายที่เกิดกับระบบนิเวศทางทะเล และยังต้องใช้เวลาอีกหลายปีเพื่อฟื้นฟูให้กลับมาเหมือนเดิม
สำหรับน้ำมันดิบรั่วไหลจนเกิดคราบน้ำมันในทะเลอ่าวไทยครั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศวิทยาประเมินว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายกับสัตว์และพืชทะเลน้ำตื้นจำนวนมาก เพราะคราบน้ำมันในทะเลจะทำให้สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไม่ มีแสง อากาศ และอาหารในการดำรงชีวิต รวมถึงความสูญเสียทางการท่องเที่ยว ซึ่งแม้จะใช้กระบวนการทางเคมีในการกำจัดคราบน้ำมันในทะเลแล้ว ก็ยังหลงเหลือคราบน้ำมันบางส่วนที่ต้องปล่อยให้ย่อยสลายไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งกระบวนตามธรรมชาตินี้ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ ประมาณ 1 เืดือนในการย่อยสลาย โดยในช่วงนี้อาจจะพบเห็น ทาร์บอลล์ (Tarball) ที่มีลักษณะเป็นก้อนเหนียวสีดำคล้ายยางมะตอยอยู่ตามริมทะเล โขดหิน ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกนานในการย่อยสลาย และหลังจากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปีกว่าสารพิษจะหมดไปจากทะเลและชายหาด รวมถึงการทำให้ทราย โขดหิน ปะการังตามชายหาดกลับมาสะอาดเหมือนเดิม
- น้ำมันดิบรั่วไหลและคราบน้ำมันในทะเลนอกจากจะส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อระบบนิเวศและธรรมชาติแล้ว สารพิษและสิ่งที่หลงเหลือยังส่งผลเสียและอันตรายต่อสุขภาพด้วย
- น้ำมันดิบรั่วไหลและคราบน้ำมันในทะเลอันตรายต่อสุขภาพอย่างไร
-
- การสัมผัสน้ำมันดิบหรือคราบน้ำมันในทะเลทำให้เกิดการระคายเคืองตามผิวหนัง เป็นผื่นคัน แสบร้อน เกิดแผลและติดเชื้อได้ รวมถึงสารพิษจะซึมเข้าสู่ผิวหนังทำให้เกิดอันตรายอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เช่น มะเร็งผิงหนัง เป็นต้น
- การสูดดมกลิ่นเหม็นของน้ำมันและสารเคมีทำให้ปอดได้รับสารพิษ เกิดอาการปอดอักเสบ โรคระบบทางเดินหายใจ
- การรับสารพิษโดยการดูดซึมทางร่างกายอาจจะทำให้สารพิษไปสะสมในไตจนเกิดภาวะไตเสื่อมและไตวายได้
- ความกระทบกระเทือนทางระบบประสาท ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาพร่า หัวใจเต้นผิดปกติ และมีเลือดออกจากอวัยวะต่างๆ
- หากได้รับสารพิษเป็นระยะเวลานานและในระยะยาวอาจเกิดอันตรายถึงขั้นสารพิษทำลายระบบประสาทการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถทรงตัวและไม่สามารถเดินได้เป็นปกติ และอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นมะเร็งในที่สุด
-
ทาร์บอลล์ (Tarball)
ดูแลและระวังตัวจากคราบน้ำมันในทะเลอย่างไรเมื่อต้องไปทะเล
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าแม้จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลครั้งใหญ่ เราก็ยังพบคราบน้ำมันในทะเลได้เช่นกัน ซึ่งคราบน้ำมันในทะเลที่ พบทั่วไปจะเกิดจากน้ำมันไหลหรือรั่วซึมออกมาจากเรือประมง เรือข้ามฟาก สกูตเตอร์ หรือบรรดาเครื่องยนต์ในทะเล แต่จะเป็นการรั่วซึมในปริมาณน้อยจนเราสังเกตไม่ชัดเจน หรืออาจจะพบเห็นในลักษณะของรุ้งน้ำมันบนผิวทะเล ซึ่งคราบน้ำมันเหล่านี้ก็สามารถรวมตัวกันจนเกิด ทาร์บอลล์ (Tarball) ริมทะเลได้เช่นกัน
ดังนั้นเมื่อไปทะเลจึงมีคำแนะนำดังนี้เลือกลงเล่นน้ำทะเลในพื้นที่ที่น้ำทะเล
- เลือกลงเล่นน้ำทะเลในพื้นที่ที่น้ำทะเลมีสีเขียวใส และสังเกตว่าไม่มีคราบรุ้งน้ำมันอยู่บนผิวน้ำ
- หลังจากขึ้นจากเล่นน้ำในทะเลจะต้องล้างตัวด้วยสบู่ให้ร่างกายสะอาจทุกครั้ง
- ในการเล่นน้ำทะเลควรระวังไม่ให้น้ำทะเลเข้าจมูกหรือปาก และไม่ควรลืมตาในน้ำทะเลหากไม่มีหน้ากากป้องกัน
- หากพบเห็นก้อนสีดำ นุ่ม แต่มีความเหนียวหนืดคล้ายยางมะตอยตามชายหาดหรือโขดหิน อาจเป็นไปได้ว่า คือ ทาร์บอลล์ (Tarball) หลีกเลี่ยงที่จะหยิบจับหรือสัมผัส แต่หากเหยียบโดยบังเอิญ ให้รีบล้างเท้าทำความสะอาดเพื่อป้องกันสารพิษซึมเข้าสู่ร่างกาย
นอกจากระวังตัวเองแล้วเรายังต้องช่วยกันระวังและดูแลทะเลของเราด้วยนะคะ เพราะเราคงอยากมีทะเลสวยๆ น้ำใสๆ ให้ได้ไปเที่ยวพักผ่อนกันอีกนาน รวมถึงยังช่วยรักษาระบบนิเวศทางทะเลให้คงอยู่กับเราตลอดไป
