ผลร้ายจากน้ำมันรั่วลงทะเล
โพสเมื่อ : 1 ส.ค. 56
ผลร้ายจากน้ำมันรั่วลงทะเล

    เหตุการณ์ท่อส่งน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้ว รั่ว ทำให้น้ำมันราว 50,000 ลิตร ที่ลำเลียงเข้าสู่ท่อรับน้ำมันของ บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ไหลลงทะเล บริเวณชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จ.ระยอง แม้จะมีระบบการแก้ไขเหตุเฉพาะหน้า สามารถระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสิงคโปร์ แต่ก็ไม่สามารถสกัดกั้นการเคลื่อนตัวของกลุ่มคราบน้ำมันสีดำยาว 600 เมตร หนา 20 ซม. ได้ จนไหลเข้าชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เมื่อเช้าวันจันทร์ที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา

เหตุครั้งนี้ ในเบื้องต้นเชื่อว่าเป็นอุบัติเหตุ ปราศจากความจงใจ แต่หลักทั่วไปของอุตสาหกรรมการขนส่งน้ำมันทางทะเลย่อมทราบกันว่ามีความ เสี่ยง หากเกิดการรั่วไหลจะก่อความเสียหาย โดยกรมเจ้าท่า ได้กำหนดให้แนวชายฝั่งหลายแห่งในประเทศไทยมีความเสี่ยงการรั่วไหลของน้ำมัน โดยพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ครอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม มีการขนถ่ายน้ำมันบริเวณท่าเทียบเรือและกลางทะเล มีการจราจรทางน้ำหนาแน่นเป็นย่านความเสี่ยงสูงมาก จึงกำหนดมาตรการความปลอดภัยไว้หลายประการ เช่นให้นายเรือร่วมกันตรวจสอบความปลอดภัยก่อนการขนถ่ายอย่างเคร่งครัด

กรมเจ้าท่าได้เผยแพร่ข้อมูลความเสี่ยงของแหล่งน้ำเมื่อเกิดปัญหาน้ำมันรั่ว ไหลลงทะเล ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เคมี ชีวภาพ โดยคราบน้ำมันที่ลอยบนผิวน้ำจะทำปฏิกิริยาให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ปิดกั้นการสังเคราะห์แสงของแพลงก์ตอนพืช สาหร่ายและพืชน้ำ เปลี่ยนสภาวะการย่อยของแบคทีเรียในน้ำ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ เช่น ปลา สัตว์หน้าดิน ปะการัง และนก เกิดการสะสมสารพิษในห่วงโซ่อาหารตั้งแต่แพลงก์ตอน จนถึงผู้บริโภคสุดท้ายคือมนุษย์


อันตรายจากการรั่วไหลของน้ำมัน ส่งผลต่อชีวิตเล็กและห่วงโซ่อาหารที่เราอาจมองเห็นด้วยสายตา ทั้งยังกระทบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมประมงและการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง สิ่งเหล่านี้ ในระยะต้นอาจไม่เห็นผลร้ายโดยรอบ ดังนั้น แม้กิจการที่เกี่ยวข้องจะแสดงความรับผิดชอบ ก็ยังควรตั้งคณะกรรม การ ที่มีผู้เชี่ยวชาญศึกษาผลกระทบ และให้ความรับผิดชอบครอบ คลุมผลเสียที่อาจตรวจพบในระยะนาน ทั้งจะต้องตรวจสอบว่า การรั่วไหลครั้งนี้เกิดได้อย่างไร ทุกฝ่ายดำเนินตามมาตรฐานกำหนดไว้หรือไม่ หากพบว่าวิธีการที่กำหนดไว้ยังทำให้เกิดปัญหาได้ ก็ต้องปรับปรุง.

ที่มา http://www.dailynews.co.th/article/439/222633

        วันอังคารที่ 30 กรกฎาคม 2556