
โลกที่ร้อนขึ้น 4 องศา หน้าตาเป็นอย่างไร

หลายคนได้รับรู้ข้อมูลจากรายงานธนาคารโลกมาแล้วว่า ณ วันนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นแล้ว 0.8 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และหากไม่มีมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ภายในปี 2100 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกอาจสูงขึ้นจากยุคก่อนอุตสาหกรรม 4 องศาเซลเซียส
ตัวเลข “4 องศา” บอกอะไรเรา? หลายคนอาจคิดว่าชีวิตทุกวันนี้อยู่ในห้องแอร์ 25 องศา ออกไปข้างนอกเจออากาศ 35 องศาก็ยังอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข แค่ 4 องศาจะไปน่ากลัวอะไร
แต่ “4 องศา” กำลังบอกเราว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้น ไม่ใช่เพียงตัวเลขที่เพิ่มขึ้นของ ณ วันนี้ เดือนนี้ หรือปีนี้เท่านั้น แต่มันหมายถึงสภาพภูมิอากาศโดยรวมที่เปลี่ยนไป จนกระทบกับระบบนิเวศโดยรวมทั้งหมด และเป็นภัยคุกคามระยะยาว เราไปดูกันว่า จากข้อสรุปของธนาคารโลก หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น 4 องศา พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกจะได้รับผลกระทบอะไรบ้าง
- การเกษตร ทรัพยากรน้ำ สุขภาพมนุษย์ ความหลากหลายทางชีวภาพและบริการทางนิเวศจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และอาจทำให้มีการย้ายถิ่นฐานของประชากรขนาดใหญ่และส่งผลต่อความมั่นคงของมนุษย์ เศรษฐกิจ และระบบการค้า
- ภัยแล้ง (ช่วงเวลาที่ฝนไม่ตกยาวนานขึ้น) และความแห้งแล้ง (ปริมาณฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยอย่างถาวร) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศเขตร้อน
- ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 0.5 – 1 เมตร ภายในปี 2100 หรือสูงกว่านั้น จุดอันตรายของระดับน้ำทะเลที่จะสูงขึ้นท่วมเมืองชายฝั่ง คือ ทะเลแคริบเบียน เวเนซูเอลา โมซัมบิก เกาะมาดากัสการ์ อินเดีย บังคลาเทศ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย
- ภาวะคลื่นความร้อนรุนแรง ซึ่งจะเกิดขึ้นน้อยครั้งในหลายร้อยปี กำลังจะเกิดขึ้นเกือบจะทุกปีในหลายภูมิภาค เช่น เมดิเตอร์เรเนียน แอฟริกาเหนือ ตะวันออกกลาง และบางส่วนของสหรัฐอเมริกา
- ภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดคือเขตร้อน เกาะเล็กเกาะน้อยหลายแห่งจะไม่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยได้อีกต่อไป
ปะการังกำลังจะสูญพันธุ์
ความเป็นกรดของน้ำทะเลจะมีอัตราสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ สร้างความเสียหายแก่แนวปะการัง ซึ่งเป็นเหมือนปราการปกป้องพื้นที่ชายฝั่ง และเป็นที่อยู่อาศัยของปลาจำนวนมาก
ปัจจุบัน อุณหภูมิสูงขึ้น 0.8 องศา ปะการังฟอกสีเพิ่มมากขึ้น
2030 อุณหภูมิสูงขึ้น 1.4 องศา การเติบโตช้าลง
2060 อุณหภูมิสูงขึ้น 2.4 องศา ปะการังเริ่มละลาย
2100 อุณหภูมิสูงขึ้น 4 องศา มีแนวโน้มสูญพันธุ์
สิ่งมีชีวิตในป่าฝนแอมะซอน
ปัจจุบัน อุณหภูมิสูงขึ้น 0.8 องศา ยังเป็นที่อยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพที่หนาแน่น
2050 อุณหภูมิสูงขึ้น 2 องศา ไฟป่าอาจเพิ่มขึ้นเท่าตัว
2100 อุณหภูมิสูงขึ้น 4 องศา การเปลี่ยนแปลงระดับใหญ่ไปสู่พื้นที่ป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพต่ำ
ทรัพยากรน้ำ
อุณหภูมิที่สูงขึ้น 2 องศา ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลผ่านในแต่ละปีลดลง 20-40 เปอร์เซ็นต์ ในแม่น้ำดานูบ มิสซิสซิปปี แอมะซอน และเมอร์เร ดาร์ลิง บาซิน
อุณหภูมิที่สูงขึ้น 4 องศา ความแห้งแล้งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเป็นเท่าตัว
สำหรับทวีปเอเชีย ธารน้ำแข็งส่วนใหญ่ของเทือกเขาหิมาลัยจะละลายหายไปหมด เป็นภูมิภาคที่เจอภัยรุนแรงทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง สูญเสียแผ่นดินเนื่องจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น แน่นอนว่ารวมถึงประเทศไทยด้วย ในบ้านเราเอง ยังมีหลายหน่วยงาน หลายความพยายามที่จะประคองปัญหาไว้ไม่ให้รุนแรงมากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการร่วมเป็นสมาชิกความตกลงระหว่างประเทศเรื่องสภาพภูมิอากาศ แนวคิดตลาดคาร์บอน ฉลากคาร์บอน พันธบัตรป่าไม้ แผนอนุรักษ์พลังงาน แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว แนวคิดสังคมคาร์บอนต่ำ แต่เมื่อแนวคิดต่างๆ ยังไม่สามารทำให้มนุษย์ปรับเปลี่ยนความรับรู้และพฤติกรรมได้ รายงานข้อเสนอแก้ปัญหาโลกร้อนแต่ละปีอาจกลายเป็นการไล่ตามปัญหาอยู่ช่วงตัวเสมอ เพราะปัญหาโลกร้อนไม่ใช่เรื่องของตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่รอการแก้ไขจากทุกคน
ที่มา : Turn Down the Heat: Why a 4°C Warmer World Must Be Avoided - World Bank
เรียบเรียงโดย : กรวิกา
