การลักลอบทิ้งขยะพิษ ปัญหาเดิมๆ ที่ต้องการทางออก
โพสเมื่อ : 18 มี.ค. 56

การลักลอบทิ้งขยะพิษ ปัญหาเดิมๆ ที่ต้องการทางออก


ภาพ : www.greenpeace.org

เรื่อง : กองบรรณาธิการโลกสีเขียว

ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกพบว่ามีการลักลอบนำขยะพิษ น้ำเสีย และกากอุตสาหกรรมมาทิ้งอยู่บ่อยครั้ง อาจเพราะอยู่ไม่ไกลจากที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ทั้งยังมีโรงงานรับรีไซเคิล กำจัดขยะและบำบัดของเสียมาตั้งอยู่ในพื้นที่หลายโรงอีกด้วย  ...สิ่งเกิดขึ้นคือ ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ล่าสุดยังเกิดเหตุสะเทือนขวัญจากการลอบยิง ประจบ เนาวโอภาส ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 ตำบลหนองแหน จนเสียชีวิต  ซึ่งตำรวจตั้งข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า สาเหตุการฆาตกรรมอาจมาจากกรณีที่ผู้ตายเป็นแกนนำต่อต้านการนำสารเคมี กากของเสียอุตสาหกรรมมาทิ้งในพื้นที่ จนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด

อย่างไรก็ตาม กรณีหนองแหนเป็นเพียงตัวอย่างของพื้นที่หนึ่งเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับปัญหาการลักลอบทิ้งขยะพิษ เนื่องจากอีกหลายพื้นที่ในหลายจังหวัด อาทิ ระยอง สมุทรปาการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี กรุงเทพฯ ฯลฯ ก็กำลังเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน 

อาชญากรสิ่งแวดล้อม กับกรณีลักลอบทิ้งขยะพิษ
พลาย ภิรมย์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ความเห็นว่าการลักลอบทิ้งขยะพิษกลายเป็นวิธีที่ง่ายและประหยัดที่จะสามารถใช้กำจัดขยะอุตสาหกรรมได้  ทำให้เกิดกรณีตัวอย่างเช่นที่หนองแหนซึ่งมีการลักลอบทิ้งน้ำเสียเป็นหมื่นๆ คิว  ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณนั้นได้รับผลกระทบ และร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จนกลายเป็นข่าวดัง

เดิมพื้นที่ตำบลหนองแหนคือพื้นที่เกษตรกรรม ที่มีผืนป่าชุมชนเป็นต้นทุนทรัพยากรอันสมบูรณ์  แต่เมื่อประมาณปี 2540 ก็เริ่มมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่ หลังชาวบ้านเริ่มสังเกตว่าบ่อดินร้างที่เคยผ่านการขุดหน้าดินเอาไปขาย มีนายทุนเข้ามาจับจองซื้อไว้และนำเอาขยะของเสียจากหลายพื้นที่มาฝังกลบ โดยไม่มีการขออนุญาต  จากนั้นก็เริ่มมีบริษัทรับกำจัดของเสียเข้ามาเปิดกิจการในพื้นที่ ทั้งบริษัทฟิวชั่น จำกัด ที่เข้ามาเปิดโรงงานรับบดกระจก อัดกระดาษ และโรงงานรับรีไซเคิลน้ำมัน  บริษัท เค เอส ดี รีไซเคิล จำกัด ทำกิจการรับคัดแยกขยะและบำบัดน้ำเสีย และการเข้ามาของบริษัท ศูนย์กำจัดของเสียไทย จำกัด  แม้บริษัทเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้ประกอบการอย่างถูกกฎหมาย แต่การดำเนินกิจการกลับส่งผลกระทบต่อชุมชนมาโดยตลอด  ที่สำคัญยังมีกรณีการลักลอบนำน้ำเสียและกากอุตสาหกรรมมาทิ้งในพื้นที่อีกด้วย

ผลกระทบที่ตามมา ไม่เพียงชาวบ้านต้องทนสูดดมกลิ่นเหม็นจากกองขยะและน้ำเสีย บางรายถึงกับมีอาการเวียนหัวคลื่นไส้ แสบจมูก ไปจนถึงแน่นหน้าอก ขณะที่แหล่งน้ำ สัตว์เลี้ยง และพืชผลทางการเกษตร ก็พลอยได้รับความเสียหายไปด้วยเช่นกัน           

สำหรับพลายมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ต่างอะไรกับอาชญากรรมด้านสิ่งแวดล้อม เพราะสิ่งแวดล้อมคือชีวิต เป็นสมบัติอันมีค่าต่อส่วนรวม การที่คนเอาขยะไปทิ้งหรือปล่อยมลพิษ มันเป็นความพยายามจะเอาทรัพยากรส่วนรวมมาเป็นของตัวเอง เป็นการสร้างผลกระทบให้กับคนอื่น

“ชาวบ้านต้องฝากปากท้องไว้กับการทำเกษตร ทำไร่  ปรากฏว่าทรัพยากรต้องมาถูกทำลาย แล้วพวกเขายังต้องมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตัวเอง ปกป้องบ้านไม่ให้กลายเป็นที่ทิ้งขยะ”

การลอบทิ้งขยะพิษ...แค่ตั้งรับไม่พอ
จากรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี 2555 โดยกรมควบคุมมลพิษ สะท้อนให้เห็นว่า ปริมาณของเสียจากภาคอุตสาหกรรมนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น จากปี 2554 ที่มีของเสียอุตสาหกรรม 2.65 ล้านตัน  ต่อมาในปี 2555 ของเสียจากอุตสาหกรรมมีเพิ่มขึ้นเป็น 3.95 ล้านตัน หรือเท่ากับร้อยละ 84ของปริมาณกากของเสียอันตรายทั้งหมด  

จำนวนขยะอุตสาหกรรมที่มีเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้หลายคนหวังจะเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาวางมาตรการเชิงรุกที่ชัดเจนเพื่อรับมือต่อปัญหานี้ รวมถึงต่อปัญหาในอนาคตที่อาจมีการลักลอบทิ้งเพิ่มมากขึ้นอีก แต่ดูเหมือนว่าการตั้งรับจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐคุ้นเคยมากกว่า...

พลายตั้งข้อสังเกตว่า ภาครัฐยังคงทำงานในเชิงรับคือมีปัญหาแล้วค่อยทำ แต่ไม่ได้มองที่ต้นทาง อีกทั้งโดยทิศทางการพัฒนาประเทศก็ยังไม่ได้ให้ความสำคัญการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ทั้งที่ปัญหานี้เป็นปัญหาเร่งด่วน
 
“เป็นความขัดแย้งกันระหว่างนโยบายว่า ขณะที่คุณสนับสนุนอุตสาหกรรมสกปรก แต่ในขณะเดียวกันคุณก็ไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษหรือขยะที่เกิดขึ้นได้เลย จึงเป็นความลักลั่นระหว่างนโยบายกับการปฏิบัติ  เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำเสียในปัจจุบันก็ไม่ได้ครอบคลุมน้ำเสียทุกชนิด นั่นจึงไม่ต่างอะไรกับการอนุญาตให้มีการปล่อยมลพิษได้อย่างถูกกฎหมาย ทั้งยังไม่มีความชัดเจนว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นใครจะเป็นคนเยียวยา และที่สำคัญกฎหมายในเชิงก้าวหน้า เพื่อจะป้องกันก็ไม่มี”

เช่นเดียวกันกับในส่วนของโรงงานรับกำจัด คัดแยก รวมถึงนำของเสียอันตรายมารีไซเคิลนั้น แม้ข้อกฎหมายจะกำหนดให้ต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนจะออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ฯ กรีนพีซก็มองเห็นช่องโหว่ตรงนี้ว่า หลายครั้งผู้ประกอบการพยามยามหลีกเลี่ยงข้อกฎหมาย ด้วยการขอเปิดโรงงานที่มีขนาดเล็กลงมาเพื่อให้การขออนุญาตทำได้ง่ายขึ้น โดยที่การดำเนินการไม่ได้มาตรฐาน ด้านระบบอีไอเอเองก็มีปัญหา เนื่องจากเมื่อให้อนุญาตไปแล้วก็ไม่มีระบบติดตามตรวจสอบ ขณะที่เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดที่มีหน้าที่ตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำผิดก็มีไม่เพียงพอ ในทางปฏิบัติจึงยังเกิดการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอยู่เนืองๆ

ทั้งนี้ มาตรการเชิงรุกอย่างหนึ่งที่พลายมองว่าจะเป็นตัวช่วยป้องกันปัญหานี้ได้ตั้งแต่ตันทางคือ การใช้ ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Registers : PRTRภายใต้หลักการที่ว่า Community Right-to-Know นั่นคือการที่ทุกคนมีสิทธิรับรู้ข้อมูลเรื่องมลพิษ  ซึ่งโรงงานต้องเปิดเผยข้อมูล ตั้งแต่ข้อมูลสารเคมีที่ใช้  ปริมาณขยะที่เกิดขึ้น  รวมถึงข้อมูลที่ว่ามีกากของเสียประเภทไหนบ้างที่ต้องเคลื่อนย้ายออกจากโรงงาน ในจำนวนเท่าไหร่  เชื่อว่าหลักการนี้จะทำให้เกิดความโปร่งใสในการบริหารจัดการมลพิษมากขึ้น  นอกจากนั้น ควรมีการนำหลัก Onsite Treatment มาใช้ในการจัดการขยะ กล่าวคือ ขยะเกิดที่ไหน น้ำเสียเกิดที่ไหน ต้องบำบัดที่นั้น ไม่ควรมีการขนย้ายของเสียออกนอกพื้นที่ ยกเว้นบางชนิดที่โรงงานไม่สามารถบำบัดได้เอง ก็ให้คัดแยกส่งต่อให้กับบริษัทที่รับบำบัด

“การจะบำบัดของเสีย บริษัทก็ต้องรู้ด้วยว่าของเสียที่รับมานั้นเป็นของเสียประเภทไหน เพื่อจะได้เลือกวิธีในการบำบัดได้ถูก ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเช่นปัจจุบันที่เอาของเสียมาผสมกันมั่ว หรือเอาไปทิ้งโดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัดใดๆ เลย”          

ทางออกอยู่ที่การเริ่มต้น...
จากปัญหาที่ยังคงเกิดขึ้นซ้ำบ่อยครั้ง และยังมองไม่เห็นปลายทางว่าปัญหาจะยุติลงได้อย่างไร อาจสะท้อนว่าวิธีคิด วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ นั้นมีบางอย่างผิดพลาด  สำหรับพลาย เขาอยากเห็นภาครัฐทำงานอย่างมียุทธศาสตร์ บูรณาการ และตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนมากขึ้น

“ทุกวันนี้วิธีคิดเรื่องการจัดการขยะมุ่งไปสู่วิธีคิดว่าจะจัดการกับขยะอย่างไร  สุดท้ายก็มาจบที่ปลายทางคือ การบำบัดซึ่งก็นำมาสู่ปัญหาการลักลอบทิ้ง แต่ถ้าตั้งคำถามใหม่ว่าเราจะลดขยะอย่างไร ทิศทางก็จะเปลี่ยนไปสู่การจัดการที่ต้นทางแทน”

นอกจากนั้นพลายยังเสนอให้นำอีก 2 เครื่องมือสำคัญ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการจัดการสิ่งแวดล้อม นอกจากปัจจุบันที่ใช้มาตรการทางกฎหมายในการตรวจสอบและควบคุมนั่นคือ เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่จะดึงเอาความอยาก ความต้องการของคนมาเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยใช้มาตรการทางการคลัง เช่น ถ้าโรงงานไหนปล่อยน้ำเสียจะถูกปรับ แต่ถ้ามีระบบการบำบัดที่ดีก็จะได้รับการลดหย่อนภาษี  ผสานไปกับการใช้เครื่องมือทางความคิดที่จะต้องกระตุ้นให้คนเกิดความตระหนักและมีรับผิดชอบเพื่อลดการกระทำผิด 

ขณะเดียวกันเขาก็มองว่าชุมชน ท้องถิ่นเองก็สามารถเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาได้เช่นเดียวกัน ทั้งจากการทำหน้าที่เฝ้าระวังในพื้นที่ และแสดงสิทธิ์เมื่อมีการกระทำอันนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อการทำลายทรัพยากร สิ่งแวดล้อม

ที่มาภาพประกอบ 
http://www.oknation.net/blog/kriengsak/2008/04/22/entry-1 
http://www.tcijthai.com/TCIJ/view.php?ids=1874