Ring of Fire
โพสเมื่อ : 25 เม.ย. 54
"วงแหวนแห่งไฟ" นั้นเป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหว และ "ภูเขาไฟระเบิด" บ่อยครั้ง มีลักษณะเป็นเส้นเกือกม้า ความยาวรวมประมาณ 40,000 กิโลเมตร
ประมาณการว่า 90% ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก และกว่า 80% ของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ เกิดขึ้นในบริเวณ "วงแหวนแห่งไฟ" เป็นส่วนหนึ่งจากเนื้อหาที่มีการระบุไว้ใน วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีโดยสังเขปคือ... วงแหวนแห่งไฟ นั้นเป็นบริเวณในมหาสมุทรแปซิฟิกที่เกิดแผ่นดินไหว และ "ภูเขาไฟระเบิด" บ่อยครั้ง มีลักษณะเป็นเส้นเกือกม้า ความยาวรวมประมาณ 40,000 กิโลเมตร วางตัวตามแนวร่องสมุทร แนวภูเขาไฟ และบริเวณขอบแผ่นเปลือกโลก โดย มีภูเขาไฟที่ตั้งอยู่ภายใน "วงแหวนแห่งไฟ" ทั้งหมด 452 ลูกและเป็นพื้นที่ที่มีภูเขาไฟคุกกรุ่นอยู่เป็นจำนวนมาก มากในระดับกว่า 75% ของภูเขาไฟที่คุกรุ่นทั้งโลก !!
วงแหวนแห่งไฟ เป็นผลมาจากการเคลื่อนที่และการชนกันของแผ่นเปลือกโลก แบ่งเป็นส่วนวงแหวนทางตะวันออก มีผลมาจากแผ่นนาซคาและแผ่นโคคอส ที่มุดตัวลงใต้แผ่นอเมริกาใต้ ส่วนของแผ่นแปซิฟิกที่ติดกับแผ่นฮวนดีฟูกา ซึ่งมุดตัวลงแผ่นอเมริกาเหนือ ส่วนทางตอนเหนือที่ติดกับทางตะวันตกเฉียงเหนือของแผ่นแปซิฟิก มุดตัวลงใต้บริเวณเกาะเอลูเชียนจนถึงทางใต้ของญี่ปุ่น และส่วนใต้ของวงแหวนแห่งไฟ เป็นส่วนที่มีความซับซ้อนของแผ่นเปลือกโลก มีแผ่นเปลือกโลกขนาดเล็กมากมายที่ติดกับแผ่นแปซิฟิก ซึ่งเริ่มตั้งแต่หมู่เกาะมาเรียน่า ประเทศฟิลิปปินส์ เกาะบัวเกนวิลเล ประเทศตองกา และ นิวซีแลนด์ แนววงแหวนแห่งไฟยังมีแนวต่อไปเป็นแนวอัลไพน์ (อีกหนึ่งแนวที่มีการเกิดแผ่นดินไหว) ซึ่งเริ่มต้นจากเกาะชวา เกาะสุมาตรา ของอินโดนีเซีย
"รอยเลื่อน" ที่ตั้งอยู่บน "วงแหวนแห่งไฟ" นี้ ก็ได้แก่ รอยเลื่อนซานอันเดรียส ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดแผ่นดินไหวเล็ก ๆ เป็นประจำ, รอยเลื่อนควีนชาร์ลอตต์ ทางชายฝั่งตะวันตกของหมู่เกาะควีนชาร์ลอตต์ รัฐบริติชโคลัมเบีย แคนาดา ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ 3 ครั้ง คือ ขนาด 7 ริกเตอร์ เมื่อ ค.ศ.1929 ขนาด 8.1 ริกเตอร์ ปี 1949 (แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดในแคนาดา) และขนาด 7.4 ริกเตอร์ ในปี 1970
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เคยเกิดขึ้นในแนว "วงแหวนแห่งไฟ" นี้ เช่น แผ่นดินไหวคาสคาเดีย ขนาด 9 ริกเตอร์ เมื่อ ค.ศ.1700, แผ่นดินไหวโลมาพรีเอตา ในแคลิฟอร์เนีย, แผ่นดินไหวภาคคันโต ในญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ.1923 มีผู้เสียชีวิตกว่า 130,000 คน, แผ่นดินไหวเกรตฮันชิน ในปี 1995 และอีกครั้งใหญ่ที่เคยบันทึกไว้คือแผ่นดินไหวเมื่อ ค.ศ.2004 บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ขนาด 9.3 ริกเตอร์ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มบริเวณโดยรอบ โดยเฉพาะอินโดนีเซียถูกถล่มด้วยคลื่นสูงราว 10 เมตร มีผู้เสียชีวิตรวมราว 230,000 คน ล่าสุด เมื่อบ่ายวันศุกร์ที่11มี.ค.2011 ญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ครั้งใหญ่สุดอีกครั้งหนึ่งของโลก จากแผ่นดินไหวรุนแรงถึง 9.0 ริคเตอร์ ในทะเลนอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ แรงไหวทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิความสูง 10 เมตร พัดกระหน่ำเข้าหาชายฝั่ง ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้าพังพินาศ มีผู้เสียชีวิตบาดเจ็บและสูญหายจำนวนมาก
ทั้งนี้ ประเทศที่ตั้งหรือมีพื้นที่บางส่วนอยู่ในแนว "วงแหวนแห่งไฟ" ได้แก่ เบลีซ โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลัมเบีย ชิลี คอสตาริกา เอกวาดอร์ ติมอร์ตะวันออก เอลซัลวาดอร์ ไมโครนีเซีย ฟิจิ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น คิริบาตี เม็กซิโก นิการากัว ปาเลา ปาปัวนิวกินี ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ซามัว หมู่เกาะโซโลมอน ตองกา ตูวาลู สหรัฐอเมริกา และรวมถึง นิวซีแลนด์ ที่เพิ่งเกิด "วิปโยคแผ่นดินไหว"เมื่อไม่นานมานี้ด้วย
นักธรณีวิทยาประมาณว่า... วันหนึ่ง ๆ โลกเกิดแผ่นดินไหวราว 1,000 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นแผ่นดินไหวที่มีการสั่นสะเทือนเพียงเบา ๆ ทั้งนี้ จุดศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวนั้นมักเกิดตามรอยเลื่อน อยู่ในระดับความลึกระดับต่าง ๆ ของผิวโลก โดยแผ่นเปลือกโลกแต่ละแผ่นจะหนาต่างกัน บางแผ่นหนาถึง 70 กิโลเมตร บางแผ่น เช่น ส่วนที่อยู่ใต้มหาสมุทร หนาเพียง 6 กิโลเมตร และแผ่นเปลือกโลกแต่ละแห่งจะมีส่วนประกอบทางกายภาพและทางเคมีที่แตกต่างกัน เมื่อเคลื่อนที่แยก หรือชนกัน ก็จะเกิดการสั่นสะเทือนที่รุนแรงมากน้อยต่างกัน
แต่ประเด็นคือ...แหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวหรือตำแหน่งจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว จะอยู่ที่บริเวณขอบของแผ่นเปลือกโลก โดยที่ กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นจะเกิดรอบ ๆ มหาสมุทรแปซิฟิก หรือที่เรียกกันว่า "วงแหวนแห่งไฟ (Ring of Fire)" "วงแหวนแห่งไฟ" มักเป็นพื้นที่ที่เกิด "หายนะใหญ่ต่อชาวโลก" เป็นประจำ ต้องจับตาดูว่าคิวต่อไป คือที่ไหน !!!
แผ่นดินไหว
ในโลกนี้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นทุกวัน เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง แผ่นดินไหวเกิดจากธรรมชาติ เนื่องจากพื้นผิวโลกมีลักษณะเป็นแผ่น ๆ เคลื่อนที่ไปมาก็เกิดการชนกันบ้าง มุดตัวกันบ้าง จนทำให้เกิดการเสียดสีและแผ่นเปลือกโลกเกิดการคดโค้งโก่งงอ มีการสะสมพลังงาน เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งก็จะปลดปล่อยพลังงานออกมาในรูปคลื่นแผ่นดินไหว ส่วนที่เกิดจากมนุษย์ เช่น การระเบิดต่าง ๆ การสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำก็ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้ อุกกาบาตก็เป็นสาเหตุหนึ่งของแผ่นดินไหวแต่นับว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบ กับสาเหตุที่เกิดจากการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก และประการสำคัญเกิดจากรอยเลื่อนหรือรอยแตกบนเปลือกโลกรอยเลื่อน ก็คือรอยแตกในหินแล้วมีการเคลื่อนตัว เมื่อเคลื่อนตัวครั้งหนึ่งก็จะทำให้เกิดแผ่นดินไหว ในรอยเลื่อนหนึ่ง ๆ อาจจะเกิดการเคลื่อนตัวหลาย ๆ ครั้งได้
แผนที่ธรณีวิทยาประเทศไทยมีรอยเลื่อนอยู่มาก รอยเลื่อนบางแนวในเขตภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ เราเรียกว่า “ รอยเลื่อนมีพลัง ” เป็นบริเวณที่ก่อกำเนิดแผ่นดินไหวได้
ขนาดแผ่นดินไหวมีหน่วยวัดความสั่นสะเทือนเป็นริกเตอร์ เท่าที่เคยวัดได้ขนาดสูงสุดประมาณ 9.1 ริกเตอร์ ที่ประเทศญี่ปุ่น แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ๆ ขนาดนี้จะเกิดนาน ๆ ครั้ง อาจจะช่วงระยะ 1,000 ปีเกิดขึ้น 1 ครั้ง ไม่เหมือนแผ่นดินไหวขนาดปานกลาง เช่น 4 – 6 ริกเตอร์ จะเกิดบ่อย แต่ถ้าขนาด 1 – 3 ริกเตอร์ อาจจะแทบทุกวัน
ในประเทศไทยเคยมีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่สุดเท่าที่บันทึกได้ประมาณ 5.9 ริกเตอร์ เกิดแถวกาญจนบุรี แผ่นดินไหวครั้งนั้นไม่ได้มีอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ออกกฏกระทรวง ฉบับที่ 49 โดยบังคับให้จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบแผ่นดินไหวประมาณ 10 จังหวัด ให้มีการป้องกันเกี่ยวกับการก่อสร้างตึกสูงเอาไว้ แผ่นดินไหวที่เกิดในบ้านเราค่อนข้างมีขนาดเล็ก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์ หรือพม่า ซึ่งประเทศเหล่านั้นต้องอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “ แนวแผ่นดินไหว ” จึงเกิดแผ่นดินไหวบ่อย บางครั้งอาจรุนแรงมาก
เรื่องขนาดและความรุนแรงของแผ่นดินไหวนี้ มีหลายคนมักจะใช้สับสนกัน เช่น เมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศพม่า มีขนาด 6 ริกเตอร์ เครื่องวัดแผ่นดินไหวที่พม่าก็จะวัดได้ 6 ริกเตอร์ ที่เมืองไทยก็จะวัดได้ 6 ริกเตอร์ และที่จีนก็จะวัดได้ 6 ริกเตอร์เหมือนกัน เพราะเป็นการวัดที่จุดศูนย์กลาง ฉะนั้น ไม่ว่าจะวัดตรงจุดไหนก็จะมีขนาดเท่ากันหมด แต่ความรุนแรงที่เกิดจะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าพื้นที่อยู่ใกล้จุดที่เกิดแผ่นดินไหวแค่ไหน ถ้าใกล้ก็จะมีความรุนแรงมาก และห่างออกไปก็จะมีความรุนแรงน้อยลง แต่ถ้าเกิดใกล้ชุมชนมากก็จะมีความรุนแรงมาก เกิดความเสียหายมากก็จะถือว่ามีความรุนแรงมาก แต่บางทีมีแผ่นดินไหวขนาดแค่ 6 หรือ 7 ริกเตอร์ ก็อาจก่อให้เกิดความรุนแรงได้มากดังเช่นที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดใกล้เมืองโกเบมากเลยก่อให้เกิดผลกระทบอย่าง รุนแรง มีคนตายเกือบ 6,000 คน บ้านเรือนเสียหายมาก ประชาชนไร้ที่อยู่อาศัย 100,000 คน ถือว่ามีความร้ายแรงมาก
แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นไม่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย เนื่องจากระยะทางห่างกันมาก แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือการเกิดแผ่นดินไหวในพม่า และแผ่นดินไหวขนาดใหญ่อาจมีผลต่อพื้นที่ลาดชันและเขาสูง เช่น บริเวณเชิงเขาลาดชันอาจเกิดดินถล่มลงมาและเป็นอันตรายต่อบ้านเรือนในพื้นที่ ใกล้เคียงได้
ระดับความรุนแรงแผ่นดินไหว ตามมาตราเมอร์คัลลี |
|
ความรุนแรง | สภาพของแผ่นดินไหวความรุนแรง |
1 | คนธรรมดาจะไม่รู้สึกแต่เครื่องวัดสามารถตรวจจับได้ |
2 (อ่อน ) | คนที่มีความรู้สึกไวจะรู้สึกว่าแผ่นดินไหวเล็กน้อย |
3 (เบา ) | คนที่อยู่กับที่รู้สึกว่าพื้นที่สั่น |
4 (พอประมาณ ) | คนที่สัญจรไปมารู้สึกได้ |
5 (ค่อนข้างแรง ) | คนที่นอนหลับก็ตกใจตื่น |
6 (แรง ) | ต้นไม้สั่น บ้านแกว่ง สิ่งปลูกสร้างบางชนิดพัง |
7 (แรงมาก ) | ฝาห้องแยกร้าว กรุเพดานร่วง |
8 (ทำลาย ) | ต้องหยุดขับรถยนต์ ตึกร้าว ปล่องไฟพัง |
9 (ทำลายสูญเสีย ) | บ้านพัง ตามแถบรอยแยกของแผ่นดินท่อน้ำท่อแก๊สขาดเป็นตอน ๆ |
10 (วินาศภัย ) | แผ่นดินแตกอ้า ตึกแข็งแรงพัง รางรถไฟคดโค้ง ดินลาดเขาเคลื่อนตัวหรือถล่มตอนชัน ๆ |
11 (วินาศภัยใหญ่ ) | ตึกถล่ม สะพานขาด ทางรถไฟท่อน้ำและสายไฟใต้ดินเสียหาย แผ่นดินถล่ม น้ำท่วม |
12 (มหาวิบัติ ) | ทุกสิ่งทุกอย่างบนพื้นดินแถบนั้นเสียหายโดยสิ้นเชิง พื้นดินเคลื่อนตัวเป็นลูกคลื่น |
สภาพความรุนแรงของแผ่นดินไหวแบ่งออกเป็น 12 ระดับ เริ่มจากความรุนแรงน้อยสุดคือ ระดับ 1 ไปจนถึงระดับ 12 เป็นระดับความรุนแรงสูงสุด แต่ถ้ารุนแรงระดับ 6 ขึ้นไปจะมีความเสียหายเกิดขึ้น เช่น เมื่อปี 2537 เกิดแผ่นดินไหวที่ อ.พาน จ.เชียงราย ขนาดประมาณ 5.6 ริกเตอร์ แต่มีความรุนแรงระดับ 6 – 7 ทำให้อาคารร้าวใช้การไม่ได้ แต่เหตุการณ์แบบนี้มักจะเกิดนาน ๆ ครั้ง
จากhttp://www.dailynews.co.th