
เมื่อ (เหมือง) ทองคำที่วังสะพุงเป็นพิษ
โพสเมื่อ : 20 ก.พ. 56
เมื่อ (เหมือง) ทองคำที่วังสะพุงเป็นพิษ

เรื่อง : เกื้อเมธา ฤกษ์พรพิพัฒน์ / อุบลวรรณ กระปุกทอง
ใคร จะเชื่อว่า “ทองคำ” แร่ที่มีมูลค่าเป็นสากลในตลาดโลก สินค้าที่ผู้คนต่างอยากจับจองเป็นเจ้าของ จะเป็นที่มาของฝันร้ายสำหรับชาวบ้านตำบลเขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย
แม้ พื้นที่จังหวัดเลยจะมีแหล่งทรัพยากรแร่ซุกตัวอยู่ใต้ดินจำนวนมาก แต่ดูเหมือนว่าขุมทรัพย์ที่มีค่าอย่างแท้จริงสำหรับชาวบ้านคือความอุดม สมบูรณ์ของผืนดินและท้องน้ำที่เอื้อให้พวกเขาทำไร่ ทำนา เลี้ยงชีวิตกันได้อย่างไม่อัตคัด แต่แล้วฝันร้ายก็มาเยือนเมื่อบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้รับอาชญาบัตรพิเศษในการเข้าสำรวจแร่ในพื้นที่ และพบสินแร่ทองคำที่คุ้มค่าสำหรับการทำเหมือง ตามมาด้วยการได้รับประทานบัตรหรือหนังสือรับรองให้ทำเหมืองเป็นเวลา 25 ปี บนพื้นที่ 6 แปลง หรือ1,308 ไร่ ของภูทับฟ้าและภูซำป่าบอน ก่อนจะเปิดดำเนินการทำเหมืองอย่างเป็นทางการในปี 2549
จากอดีตที่เหมืองเคยเป็นความหวัง
เมื่อ แรกที่บริษัททุ่งคำเข้ามาดำเนินกิจการทำเหมืองในพื้นที่ สำหรับชาวบ้านพวกเขามีความหวัง ทั้งหวังให้ลูกหลานได้ทำงานในเหมืองแทนที่จะต้องเดินทางไปทำงานไกลบ้าน หวังว่าจะมีช่องทางทำมาหากินเพิ่ม บ้างวาดภาพว่าตนจะขึ้นไปเป็นแม่ค้าขายส้มตำไก่ย่างบนเหมืองแห่งนั้น แต่ ผ่านมากว่า 6 ปี เวลาช่วยสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่เหมืองทองให้กับชาวบ้านไม่ใช่ความร่ำรวย ไม่ใช่การสร้างงาน ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตของใครดีขึ้น ขณะสิ่งที่ชาวบ้านถูกยัดเหยียดให้ได้รับอยู่ตลอดเวลาคือ สารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในดิน น้ำ รวมถึงในร่างกายของพวกเขา อีกทั้งพื้นที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งอาหาร เป็นต้นกำเนิดลำน้ำและสายธารแห่งชีวิต ก็ล้วนถูกทำลายลงจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม
ขณะ ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังไม่มีคำตอบว่าสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมอันนำมาซึ่งผลกระทบต่อ สุขภาพนั้นมาจากแหล่งกำเนิดใด บ่อกักเก็บกากแร่ที่มีปริมาณไซยาไนด์เข้มข้นก็เกิดทรุดตัว จนสันเขื่อนของบ่อแตก ทำให้น้ำในบ่อรั่วออกไปสู่บ่อเก็บน้ำอีกแห่งหนึ่งของเหมืองที่ไม่ได้มีการ เตรียมการไว้เพื่อรองรับน้ำที่มีสารพิษ ทำให้ชาวบ้านเกิดความกังวลว่าจะมีไซยาไนด์ปนเปื้อนไปยังแหล่งน้ำใต้ดินและ ที่นาของชาวบ้านแต่ ดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะอยู่ห่างไกลจากความสนใจของนายทุนเหมือง เพราะไม่เพียงไม่สะสางปัญหาเดิมๆ ที่มีอยู่ บริษัทฯ ยังพยายามขอขยายการใช้พื้นที่และขยายประทานบัตรไปยังภูเหล็ก ภูที่ได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ พร้อมๆ ไปกับการเดินหน้าขอต่ออายุใช้พื้นที่ป่าของภูซำป่าบอนที่หมดอายุเมื่อปี 2554 และพื้นที่ภูทับฟ้าที่กำลังจะหมดอายุ
บ่อกักเก็บกากแร่ ปัญหาที่อุดไม่อยู่
ใน ขณะที่บริษัททุ่งคำอยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวด ล้อมและสุขภาพเพื่อยืนขอประทานบัตรขยายพื้นที่เหมือง เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อคันดินของบ่อกักเก็บกากแร่เกิดทรุดตัว เมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งภายในบ่อนั้นมีทั้งน้ำ กากแร่ และสารเคมีที่ใช้ในการสกัดทองคำอดย่างไซยาไนด์ปนเปื้อนอยู่ โดยคันดินที่ทรุดตัวทำให้น้ำในบ่อไหลทะลักไปยังบ่อน้ำใกล้เคียงที่ขุดไว้ เพื่อเตรียมสร้างบ่อกักเก็บกากแร่บ่อที่ 2 หากแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้มีการก่อสร้าง
ทั้ง นี้ ในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของเหมืองที่ปัจจุบันเปิดดำเนินการอยู่ กำหนดไว้ว่าบ่อเก็บกากแร่นี้สามารถยกระดับสันเขื่อนได้สูงสุด 310 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่สามารถเก็บกากแร่ได้ที่ความจุ 308 เมตร โดยต้องเว้นขอบบ่อไว้ 2 เมตร เพื่อรองรับกรณีที่มีพายุฝน อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าเกิดเหตุประมาณ 1 เดือน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล ได้เคยเข้าตรวจสอบพื้นที่และพบว่า ปริมาณน้ำในบ่อกักเก็บกากแร่นั้นใกล้จะสูงถึงระดับที่กำหนด จึงออกหนังสือเตือน รวมทั้งแนะนำให้เหมืองแร่ดำเนินการลดแรงดันของน้ำ และหาวิธีทำให้น้ำลดปริมาณลง
หลัง เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว สุรพงษ์ ลิมปัชโยภาช ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการบริษัททุ่งคำ ได้ออกมาชี้แจงว่า เมื่อได้รับคำสั่งจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ว่าไม่ให้เก็บกากแร่เกินระดับ 308 เมตร ก็ได้ขีดเส้นที่ระดับนั้นไว้โดยรอบบ่อ และให้พนักงานเข้าไปดูแลอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้ระดับน้ำสูงเกินกว่าที่ กำหนด อีกทั้งยังได้จัดทำกังหันและน้ำพุไว้เพื่อช่วยให้น้ำระเหยได้มากขึ้นด้วย
ด้าน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ตั้งข้อสันนิษฐานถึงเหตุการณ์ที่เกิด ขึ้นว่า น่าจะเกิดจากแรงดันน้ำในบ่อที่ส่งผลต่อเสถียรภาพของคันเขื่อน ทำให้เกิดการแตกและมีน้ำรั่วออกมา เนื่องจากความสูงของน้ำบริเวณบ่อกักเก็บกากแร่กับความสูงของน้ำด้านหลังคัน เขื่อนมีความต่างกันมาก ขณะที่บริเวณบ่อด้านที่สันเขื่อนแตกมีปริมาณน้ำสูงกว่ากากแร่ 4 – 5 เมตร ทำให้เกิดแรงดันต่อแนวผนังมากกว่าด้านอื่น รวมถึงการที่มีรถบรรทุกวิ่งขนย้ายดินบริเวณสันเขื่อนก็น่าจะเป็นหนึ่งใน สาเหตุที่ทำให้คันดินของบ่อเกิดการทรุดตัว
นอก จากข้อสันนิษฐานของทางหน่วยงานราชการที่พุ่งตรงไปที่ข้อผิดพลาดทางเทคนิค แล้ว ในมุมของชาวบ้าน สมัย ภักดิ์มี ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เหมือง กลับเห็นว่า อีกสาเหตุก็น่าจะเป็นเพราะบริษัทไปสร้างบ่อไว้ตรงจุดที่เป็นน้ำซึม น้ำซับ หรือตาน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ดินอ่อน
อย่าง ไรก็ดี แม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหนนี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงกับชุมชนรอบเหมือง แต่ก็กลายเป็นข้อกังขาว่าอะไรคือหลักประกันความปลอดภัยของชุมชนที่อยู่รอบ เหมือง
สารพิษปนเปื้อน ความเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้ของคนรอบเหมือง
อาจกล่าว ได้ว่ากรณีคันบ่อทรุดตัวเป็นเพียงกลิ่นควันของปัญหา เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่ชุมชนประสบความเดือดร้อนมาโดยตลอดคือสารพิษที่ปน เปื้อนในสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพที่เชื่อว่ามาจากการทำเหมือง
ประจักษ์ หลักฐานที่ยืนยันถึงปัญหาคือ ในปี 2551 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำในพื้นที่รอบเหมือง แล้วพบว่ามีสารหนูในลำห้วยเหล็ก ในเขตพื้นที่บ้านกกสะทอน หมู่ 2 ทั้งยังพบแมงกานิสในพื้นที่บ้านนาหนองบง และพบแคดเมียมในระบบประปาบ้านนาหนองบงคุ้มน้อยหมู่ 3โดยสารเหล่านี้ปนเปื้อนในแหล่งน้ำธรรมชาติสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานน้ำผิวดิน และน้ำใต้ดินตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสูงเกินเกณฑ์คุณภาพน้ำบริโภคของกรมอนามัย
หลัง การตรวจคุณภาพน้ำในครั้งนั้น สาธารณสุขจังหวัดเลยได้มีประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ไม่ให้นำน้ำจากแหล่ง น้ำเหล่านั้นมาดื่มกินโดยตรง รวมถึงไม่ควรนำมาปรุงอาหาร หรือประกอบอาหาร จนกว่าจะมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เหมาะสม ทำให้แม้แต่หอยหรือผักบริเวณลำห้วยที่เคยเป็นแหล่งอาหารก็ไม่อาจเก็บมากิน ได้อีกต่อไป แถมชาวบ้านยังต้องซื้อน้ำเพื่อบริโภค ส่วนชาวบ้านที่มีที่นาอยู่บริเวณร่องห้วยเหล็กใต้บ่อกักเก็บกากแร่ และกินข้าวจากนาของตัวเอง ก็พบอาการผิดปกติ ขาเริ่มเล็กลีบ และไม่มีแรง เมื่อตรวจเลือดก็พบสารไซยาไนด์ถึง 0.55 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งสูงเกินค่ามาตรฐาน
ทว่า ภายหลังที่มีการตั้งคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมควบคุมมลพิษ สาธารณสุขจังหวัด เพื่อแก้ไขปัญหา ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำ โดยเก็บตัวอย่างน้ำ 30 จุด ทุกๆ 3 เดือน โดยรายงานผลการตรวจล่าสุดเมื่อวันที่ 7 – 8 พฤศจิกายน กลับไม่พบว่ามีความผิดปกติ หรือมีสารไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐาน
ต่อความคลุมเครือดังกล่าว ประสาท มีแต้ม หนึ่งในอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ เคยลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหา ตั้งข้อสังเกตว่า ถึงจะมีการเก็บคุณภาพน้ำไปตรวจสอบทุก 3 เดือน แต่หากไม่มีการเปรียบเทียบผลการตรวจสอบแต่ละเดือนว่ามีค่าความเข้มข้นของสาร เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่อย่างไร ก็จะเป็นการตรวจสอบที่ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากตามปกติสารเคมีจะเคลื่อนที่ได้ในสองกลไก กลไกหนึ่งคือ เคลื่อนที่จากความเข้มข้นมากไปสู่ความเข้มข้นน้อย กลไกที่สองคือเคลื่อนที่ไหลไปกับน้ำ ในแต่ละจุดจึงต้องมีการเก็บข้อมูลหลายเวลา แล้วเปรียบเทียบดูความเปลี่ยนแปลง อีกทั้ง 30 จุดที่มีการเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบ ก็ควรจะเป็นการตรวจสอบที่สอดคล้องกับทิศทางการไหลของน้ำด้วย รวมถึงควรมีการเฝ้าระวังในจุดที่สำคัญ เช่น ตาน้ำหรือบริเวณที่ชาวบ้านเข้าไปทำมาหากิน ไม่ใช่มุ่งไปตรวจสอบเฉพาะจุดที่อยู่ในเขื่อน หรือพื้นที่เหมือง เพราะความจริงแล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นล้วนอยู่นอกพื้นที่เหมืองทั้งสิ้น
เหมืองทองกับความขัดแย้งบนพื้นที่สีเทา
หาก แทนภาพป่าด้วยสีเขียว แทนภาพเหมืองด้วยสีทอง และแทนภาพความขัดแย้งด้วยสีเทา สำหรับกรณีของเหมืองทองแห่งนี้คงทำให้เรานึกตามได้ไม่ยากว่าเพราะสีทองนั่น เองที่ทำให้สีเขียวหายไป และทำให้สีเทาหม่นๆ มีเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ เพราะนอกจากจะมีความขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก กิจการเหมืองแล้ว อีกด้านหนึ่งบริษัททุ่งคำก็กำลังมีปัญหาในการขออนุญาตใช้พื้นที่ ส.ป.ก. และพื้นที่ป่า
สมพร ภู่พัฒน์วิบูลย์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลย เปิดเผยว่า นับจากปี 2542 ที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินส่วนกลาง อนุญาต ให้บริษัททุ่งคำใช้พื้นที่กว่า 200 ไร่ ในการทำเหมืองโดยมีกำหนดระยะเวลา 10 ปี บริษัทได้จ่ายค่าตอบแทนแก่ ส.ป.ก. จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2552 เป็นเงิน 72 ล้านบาท แต่หลังจากนั้นบริษัทกลับไม่ยอมชำระเงินต่อ เป็นเหตุให้ในปี 2554คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดเลยมีมติให้หนังสือยินยอมใช้ที่ดินนั้น ถือเป็นที่สิ้นสุด และได้มีหนังสือแจ้งไปยังบริษัทให้หยุดดำเนินกิจการ
อย่าง ไรก็ตาม บริษัททุ่งคำได้โต้แย้งและฟ้องต่อศาลปกครองกลางว่าคำสั่งของ ส.ป.ก. นั้นไม่ชอบ ไม่มีอำนาจ และขอทุเลาการบังคับคดี ภายหลังได้โอนคดีมายังศาลปกครองจังหวัดอุดรธานี ซึ่งมีคำวินิจฉัยให้ทุเลาการบังคับคดีไว้ก่อน ทำให้บริษัทยังสามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ ขณะที่คดีความยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง
ส่วน อีกด้าน เนื่องจากแปลงประทานบัตรของเหมืองจำนวน 3 แปลงบนภูทับฟ้าอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ใบอนุญาตขอใช้พื้นที่ดังกล่าวจากกรมป่าไม้ได้หมดอายุลงเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2555 ซึ่งบริษัทได้ยื่นคำขออนุญาตใช้พื้นที่ต่อ หากแต่ยังไม่ได้รับอนุญาต
นิวัธน์ วังทะพันธ์ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเลย กล่าวว่า ตามระเบียบกรมป่าไม้ มีเงื่อนไขข้อ หนึ่ง ระบุว่า การเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ผู้ขออนุญาตจะต้องไม่มีปัญหากับราษฎรในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลในท้องที่ที่ ป่านั้นตั้งอยู่ ด้วยเหตุนี้ทางกรมป่าไม้จึงเห็นควรให้ชะลอการอนุญาตในกรณีนี้ไว้ก่อน ส่วนการขอใช้พื้นที่ภูเหล็กเพื่อขยายเหมืองนั้น พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ซึ่งตามมติ ครม. ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำที่ควรสงวนไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารโดยเฉพาะ หากจะขอใช้พื้นที่ก็ต้องได้รับอนุญาตโดยผ่านมติ ครม.
นั่น หมายความว่าหากบริษัททุ่งคำต้องการประกอบกิจการเหมืองแร่ต่อไป ก็จำเป็นต้องคลี่คลายพื้นสีเทาด้วยการแก้ไขปัญหาสารพิษที่ส่งผลกระทบต่อชาว บ้านเสียก่อน
บนเวทีที่เป้าหมายแตกต่างกัน
จากอดีต ที่เคยเป็นแหล่งอาหารและต้นน้ำ วันนี้ภูซำป่าบอนและภูทับฟ้ากลายสภาพเป็นขุมเหมืองของบริษัททุ่งคำ โดยเป้าหมายต่อไปคือการขอประทานบัตรเพิ่มเติมที่ภูเหล็ก ซึ่งยังคงปกคลุมด้วยป่าไม้อันอุดมสมบูรณ์
แม้ ที่ผ่านมาจะปรากฏเสียงคัดค้านจากชุมชนใกล้เคียงเหมืองแร่ รวมถึงการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นหรือการทำ Public Scoping เพื่อประกอบการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการขอประทานบัตรทำ เหมืองเพิ่มเติม ก็ต้องยกเลิกกลางคันมาแล้วหลายครั้ง แต่ในที่สุดเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2555 เวทีรับฟังความคิดเห็นก็ถูกเปิดขึ้นที่ศาลากลางจังหวัดเลย ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับที่คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากร ใช้ประชุมรับฟังข้อเท็จจริงกรณีที่ชาวบ้านร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการ ทำเหมืองแร่ในสัปดาห์ก่อนหน้า
สำหรับ บรรยากาศการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น หรือ Public Scoping ในวันนั้น ภาพที่ปรากฏผ่านสื่อแสดงว่ามีการกีดกันชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบไม่ให้เข้า ร่วม แม้ว่าจะเป็นเวทีที่มีความสำคัญเพราะเป็นการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมิน ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก็ตาม ขณะผู้ที่ได้เข้าร่วมเวที ส่วนใหญ่กลับเป็นเจ้าหน้าที่เหมืองของบริษัททุ่งคำและชาวบ้านจากตำบลหนอง งิ้วซึ่งไม่ใช่คนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการทำเหมือง
ส่วน เวทีของคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่จัดขึ้นก่อนหน้านั้นประมาณ หนึ่งสัปดาห์ หลังการได้รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านและข้อเท็จจริงจากหน่วยงาน ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานะ ประธาน ให้ความเห็นว่า สิ่งที่เหมืองแร่ทำมานั้นมีผลกระทบต่อชาวบ้านมาก มีผลกระทบทั้งในเรื่องชีวิต สุขภาพ และความเจ็บป่วย การทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือการจัดเวที Public Scoping เป็นเพียงกระบวนการเบื้องต้น แต่ภายใต้พื้นที่ที่มีความขัดแย้ง ทำไปก็จะไม่มีประโยชน์อะไร การยิ่งดึงดันอาจหมายความว่าบริษัทต้องการให้เกิดความขัอแย้ง เกิดการเผชิญหน้ามากขึ้น
“สิ่ง ที่ควรจะเกิดขึ้นคือ การทบทวนของบริษัทถึงการทำงานที่ผ่านมาและหาทางแก้ปัญหาให้ได้มากกว่า เพราะขณะนี้ชาวบ้านกำลังได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิ์” นพ.นิรันดร์ย้ำ
