
จัดระเบียบอนุสาวรีย์ชัยฯ แก้ปัญหาการใช้พื้นที่สาธารณะของคนกรุง

ใคร ที่ได้เดินทางในกรุงเทพฯ คงแทบไม่มีใครไม่เคยเดินผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พื้นที่ใจกลางมหานครแห่งนี้ และคงไม่มีใครไม่เคยผ่านประสบการณ์เดินบนถนนเคียงคู่ไปรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถเข็น ที่สัญจรอย่างวุ่นวาย เพราะถูกร้านค้าเบียดบังทางเดินเท้า แต่ก็อีกนั่นล่ะ คงหาคนที่ไม่เคยช็อปปิ้งจากร้านค้าเหล่านี้ได้ยากเหลือเกิน
นี่ เป็นเพียงภาพส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นในย่านศูนย์กลางการเดินทาง แต่สิ่งที่คนย่านนี้เห็นมากกว่านั้น และเห็นอยู่ทุกวัน ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่จอดรถตู้ที่ขยายใหญ่ขึ้นทุกที พื้นที่สีเขียวที่น้อยลงไปเรื่อยๆ ขยะมากขึ้นโดยไม่มีการจัดการ ฯลฯ
ท่าม กลางสารพัดปัญหาที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้เกิดการรวมตัวกลุ่มเล็กๆ ของคนในย่านนั้น ในชื่อ “กลุ่มคนรักษ์อนุสาวรีย์” ที่มาจากทั้งภาคธุรกิจอย่างเซ็นเตอร์วัน สยามคอมพิวเตอร์ ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ร้านค้าในเซ็นจูรี่ แฟชั่นมอลล์ ร้านแซ็กโซโฟน คลินิกเพชรา คิงส์พาวเวอร์ และภาคประชาสังคม อย่าง The NETWORK บ้านเซเวียร์ โรงพยาบาลราชวิถี สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ ฯลฯ โดยพยายามรวบรวมข้อมูล สิ่งที่เกิดขึ้น ผลกระทบกับคุณภาพชีวิตคนอนุสาวรีย์ชัย ยื่นเป็นข้อเสนอต่อกรุงเทพมหานคร นี่อาจเป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่แสดงความมุ่งมั่นอันยิ่งใหญ่ที่อยากจะให้ “บ้าน” ของตัวเองปลอดภัย อยู่อาศัยอย่างมีความสุข
อนุสาวรีย์ชัย พื้นที่ที่ถูกลิดรอนไปตลอดเวลา
ปารีณา ประยุกต์วงศ์ ผู้ จัดการเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและประชาสังคม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The NETWORK of NGO and Business Partnerships for Sustainable Development ) และสมาชิกกลุ่มรักษ์อนุสาวรีย์ที่อาศัยอยู่ในซอยพระนางตั้งแต่เด็กให้ข้อมูล ว่า ในอดีตไม่กี่สิบปีก่อน พื้นที่ 4 ด้าน ของอนุสาวรีย์ชัย ยังเคยมีต้นไม้ เคยเป็นลานกิจกรรมสาธารณะที่คนผ่านไปผ่านมายังนั่งพักได้อยู่ และเคยมีพื้นที่ป้ายรถโดยสายที่ใหญ่และโล่งสบาย แต่ต่อมากรุงเทพมหานครให้สัมปทานเอกชนปรับปรับพื้นที่เป็นลานกิจกรรม หลังจากนั้นไม่นานพื้นที่เหล่านั้นกลายเป็นร้านอาหาร ตลาดนัด คนเดินบนทางเท้าไม่ได้ ซ้ำร้ายการขนย้ายสินค้าก็กินพื้นที่ถนนเลนที่ 1 ไปอีก ตามข้อมูลที่กรุงเทพมหานครระบุสัญญาเช่าพื้นที่ มีจำนวน 63 ร้าน แต่จากการสำรวจของกลุ่มคนรักษ์อนุสาวรีย์ พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 400 ร้าน รวมทั้งไม่มีใครรู้ว่าสัญญาเช่านี้หมดอายุหรือยัง ทำไมถึงแต่ละปีร้านค้าจึงมากขึ้นเรื่อยๆ
“เรา ไปสัมภาษณ์คนที่ซื้อของจากร้านค้าเหล่านี้ จริงๆ เขาไม่ได้ต้องการมาช็อปปิ้งนะ เขาต้องการเดินไปรถไฟฟ้า แต่ระหว่างทางมันไม่มีที่ให้หลบก็ต้องเดินผ่าน แล้วพอถูกกระตุ้นด้วยสายตาก็เลยเสียตังค์ ก็ยิ่งทำให้ร้านค้ามีมาเพิ่มขึ้นโดยไม่มีการจัดการ และเราซึ่งอยู่ในย่านนี้ก็อยากให้ กทม. เปิดเผยรายละเอียดสัญญาให้รู้ด้วย”
นอก จากปัญหาร้านค้า ในระยะหลังผิวถนน ตามตรอกซอกซอย และใต้ทางด่วนก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้กัน โดยที่นี่มีทั้งวินรถตู้ในกรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ – ต่างจังหวัด ที่นับวันจะเพิ่มเส้นทางขึ้นเรื่อยๆ และการจอดรถรอผู้โดยสาย การตั้งโต๊ะจำหน่ายตั๋ว ล้วนทำให้ทางคนเดินและทางรถหายไป เกิดความแออัดและสร้างควันพิษมากขึ้น
“เรื่อง รถตู้ถ้ามันรวมอยู่ที่นี่มากเกินไปจะกระทบกับการจราจรที่อื่นๆ เช่น รถรับส่งของโรงพยาบาล เราก็คุยกันในกลุ่มว่ามันพอจะมีที่ทางกระจายไปที่อื่นได้บ้างไหม แถวบางซื่อที่รถไฟฟ้าผ่านอาจจะพอมีที่ว่างอยู่ หรือใครจะไปเส้นตะวันออกก็นั่งรถไฟฟ้าไปแป๊ปเดียวก็ถึงเอกมัยแล้ว ตรงใต้ทางด่วนมักกะสันก็เป็นที่จอดรถได้ แต่ขอให้จอดเฉพาะกลางคืนได้หรือเปล่า กลางวันเป็นพื้นที่สาธารณะ ทุกวันนี้คนอาจจะเคยชินกันแล้ว แต่ความสะดวกสบายมันเป็นมะเร็งร้ายนะถ้าคนอื่นเขาเดือดร้อน เราก็ไม่รู้จะทำได้จริงไหม แต่ตอนนี้ทางกลุ่มกำลังรวบรวมข้อมูลจำนวนรถตู้อยู่ จะได้เห็นว่ามันมากมายขนาดไหนที่มารวมอยู่ที่นี่”
ฟื้นคืนพื้นที่ของทุกคน
จาก ปัญหาต่างๆ ที่สะสมมานาน กลายเป็นความทุกข์ที่คนที่อยู่ที่นี่ต้องรวมตัวกัน ประชุม ปรึกษาหาแนวทางไม่ให้พื้นที่รอบบ้านไร้ระเบียบไปมากกว่านี้ และในที่สุดก็ได้เป็นข้อเสนอการฟื้นคืนพื้นที่สาธารณะรอบอนุสาวรีย์ชัย 4 ด้านด้วยกัน
ด้านแรก “การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน” โดย การขอให้กรุงเทพมหานคร เปิดเผยจำนวนร้านค้าแผงลอย ที่ได้รับการผ่อนผันทั่วเกาะอนุสาวรีย์ และขอให้ทางตำรวจเปิดเผยจำนวนรถตู้ที่อยู่รอบเกาะทั้ง 4 เกาะ ว่าเป็นไปตามสัญญาการใช้ประโยชน์พื้นที่จริงหรือเปล่า เพราะที่ผ่านมามีการใช้งานผิดวัตถุประสงค์ ไม่มีการดูแล และสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนรวมทั้งอยากให้ชุมชนเข้าไปมีบทบาทรับฟัง กรุงเทพมหานครว่ามีนโยบายดูแลพื้นที่อย่างไร และรับฟังเสียงคนในชุมชนว่าอยากใช้พื้นที่จัดกิจกรรมอะไรบ้าง
ด้านที่สอง “เมืองสีเขียว สวนหย่อมสำหรับผู้เดินทาง” ที่ คนในชุมชนอยากได้คือสวนที่มีต้นไม้ใหญ่ ไม่ใช่สวนไม่กระถางมาเรียงแนวตั้ง เพราะพื้นที่สีเขียวจริงๆ จะสร้างความร่มรื่นกับคนที่มาต่อรถเดินทาง โดยเฉพาะคนต่างท้องที่ที่มาเจอความวุ่นวายในเมืองหลวง ได้มีโอกาสนั่งพัก นั่งวางแผนการเดินทางด้วยความสบายใจ และเสนออีกว่าไม่ให้ตัดต้นไม้ที่อยู่ตอนนี้เพิ่มแล้ว
ด้านต่อมา “เมืองปลอดภัย การจัดระเบียบการจราจร ทางเดินเท้า แผงขายของ” ซึ่ง เสนอให้ลดจำนวนร้านค้าบนทางเดิน แล้วย้ายไปอยู่ในอาคารศูนย์การค้าใกล้เคียงซึ่งยังมีพื้นที่อยู่ ส่วนเรื่องที่จอดรถตู้ เสนอให้ยกเลิกการผ่อนผันรถตู้และกระจายจุดต่อรถไปที่ต่างๆ เช่น บางซื่อ เอกมัย
และด้านสุดท้ายคือ “จัดระบบการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างสร้างสรรค์” เพราะ กลุ่มคนรักษ์อนุสาวรีย์เล็งเห็นว่าพื้นที่สาธารณะในกรุงเทพฯ กำลังลดลงไปทุกที หากอนุสาวรีย์ชัยสามารถเปิดพื้นที่ให้องค์กรทางสังคมหรือคนทั่วไปมาทำ กิจกรรมได้ ก็น่าจะทำให้เมืองน่าอยู่ยิ่งขึ้น
“เรา ไม่ได้ต้องการให้ใครเดือดร้อนนะ เข้าใจว่าทุกคนต้องการการทำมากิน เราไม่ได้ต่อสู้กับนายทุนเลย เรากำลังทำความเข้าใจกับพ่อค้าแม่ค้าตัวเล็กๆ พวกเราก็ระมัดระวัง พยายามสื่อสารว่าเราไม่ได้มีพวกมีข้างใครนะ เราเสนอว่ามีพื้นที่ในอาคาร ทำโฆษณาดีๆ เดี๋ยวคนก็จะเดินเข้าไปเอง ซึ่งจริงๆ เข้าใจนะว่าคนก็ชอบเดินซื้อของข้างทาง แต่มันน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะจัดพื้นที่ให้มันมีความสวยงาม มันเป็นเรื่องที่ต้องทำให้ถูกต้อง แต่อาจไม่ถูกใจทุกคน
แค่อยากมีหรือสมควรมี
อัน ที่จริงเมื่อเมืองเติบโตขึ้น ก็ดูไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความแออัดและความแก่งแย่งกันใช้สอยพื้นที่จะตามมา แต่ในต่างประเทศก็มีหลายเมืองที่มีการจัดระเบียบเพื่ออยู่ร่วมกันของคนใน ชุมชน
ปา รีณา ยกตัวอย่างพื้นที่ที่ triangle communityวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา บนถนนความยาวเกือบ 8 กิโลเมตร ที่เคยมีปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ไม่มีคนดูแลระบบสาธารณูปโภคให้ดี แต่เมื่อคนในชุมชนไม่นิ่งนอนใจ รวมตัวกันปรับภูมิทัศน์ จัดพื้นที่บริเวณหน้าบ้าน หน้าร้านค้าของตัวเองให้สวยงาม มีพื้นที่สาธารณะ เวทีให้คนมาทำกิจกรรม สร้างสโลแกน “the city of everyone” จนปัจจุบันกลายเป็นที่ที่คนนอกก็อยากมาเที่ยว
สำหรับ กรุงเทพฯ ปารีณาตั้งคำถามว่า อยากให้คนเมืองลองคิดดูว่าเรื่องเมืองที่น่าอยู่ เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวนั้น เป็นแค่ความอยากมีหรือถ้าไม่มีก็ได้ หรือเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานที่สังคมสมควรจะมี
“สังคม ไทยเราถูกป้อนด้วยความสุขแค่วันนี้ ซึ่งจริงๆ เราก็รู้นะว่าต้นไม้มันมีคุณค่า เราไม่ได้ปลูกเพื่อวันนี้ แต่เราปลูกเพื่อเก็บไว้เป็นคุณค่าในอนาคต มันเป็นเรื่องที่ basic instinct มาก แต่คนเมืองถูกอะไรบางอย่างกดทับความต้องการนั้นไว้ เป็นความรู้ไม่เท่าทัน ต้นไม้หนึ่งต้นมีคุณค่าขนาดไหน ความตระหนักรู้ของคนเมืองยังมองอนาคตที่สั้นมากๆ ยังไม่เห็นความสำคัญของการดูแลตัวเองแบบระยะยาว”
