
ทำไมคนสตูลต้องหยุดยั้งท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา
ทำไมคนสตูลต้องหยุดยั้งขบวนการผลักดันให้ก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึก (ท่าเรืออุตสาหกรรม) ปากบารา สรุปและวิเคราะห์จากรายละเอียดเอกสารโครงการของกรมเจ้าท่า และรายงานวิเคราะห์สิ่งแวดล้อม (EIA) โดยเครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล
10 อย่างที่จะเกิดขึ้นแน่นอน หากโครงการนี้ได้รับการอนุมัติก่อสร้าง
1. จะมีการถมทะเลหน้าหาดปากบารา เพื่อก่อสร้างเกาะกลางทะเล ขนาดกว้าง 430 เมตร ยาว 1.1 กิโลเมตร หน้าท่ายาว 750 เมตร และยังจะถมทะเลเพิ่มอีกสองระยะโครงการ รวมแล้วเกือบ 1,000 ไร่ หรือเท่ากับสนามฟุตบอล 250 สนาม (สองร้อยห้าสิบ) ต่อๆ กัน
2. เนื้อที่ที่จะใช้เพื่อก่อสร้างและใช้ตอบสนองในโครงการนี้ ทั้งหมดอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จำนวน 4,734 ไร่ 62 ตารางวา และจะถูกเพิกถอนยกให้กรมเจ้าท่า
3. โครงการนี้ จะสร้างเขื่อนกันคลื่น เป็นเขื่อนกลางทะเล ระยะจากหัวเกาะเขาใหญ่ออกไป โดยใช้หินถมลงในทะเล ยาวถึง 1.7 กิโลเมตร โดยไม่ได้วิเคราะห์ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกระแสน้ำระยะสั้น ว่าจะทำให้เกิดการพังทลายที่บ้านตะโล๊ะไส บ้านท่ามาลัย, อ่าวนุ่น บ้านปากบาง, บ้านหัวหิน, บ้านหลอมปืน บ้านบากันโต๊ะทิด เป็นปริมาณเท่าไหร่
คนใต้ นักศึกษาปริญญาเอก ด้านแผนที่ภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่าหากจะทำโครงสร้างแข็ง ยื่นไปในทะเลอันดามัน ที่จังหวัดสตูล ต้องวิเคราะห์ผลกระทบการกัดเซาะพังทลายชายฝั่ง ไม่แค่เฉพาะจังหวัดสตูลเท่านั้น ต้องวิเคราะห์ทั้งคาบสมุทร (Malay Peninsular) ด้วย เพราะจกระทบทั้งหมด
4. โครงการนี้ จะขุดร่องน้ำทางเดินเรือและแอ่งกลับเรือ โดยขุดร่องน้ำใหม่ขนาดกว้าง 180 เมตร (ลึก 14 เมตร ยาว 7 กิโลเมตร) และขุดทะเลสร้างแอ่งกลับลำเรือขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 600 เมตร หรือเทียบเท่ากับความยาวของสนามฟุตบอล 6 สนาม ต่อๆ กัน
5. โครงการนี้ จะใช้พื้นที่ทางทะเลสตูลเป็นส้วมขนาดใหญ่ เท่ากับ 150 สนามฟุตบอล ต่อ ๆกัน เพื่อใช้ในการทิ้งตะกอนจากการขุดร่องน้ำ เศษดินจากการก่อสร้าง
โดยในระยะที่ 1 จะมีการทิ้งเศษดินตะกอนจำนวนปริมาณดินขุดแน่น 9,010,000 ลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นดินตะกอนหลวม 11,710,000 ลูกบาศก์เมตร รวมกับเศษซาก ระหว่างการก่อสร้างอีก รวมประมาณเท่ากับการบรรทุกด้วยรถสิบล้อจำนวนเกือบ 4 แสนคัน โดยทิ้งในทะเล บริเวณทิศเหนือของหมู่เกาะตะรุเตา
เมื่อโครงการนี้ดำเนินการต่อไป จะมีการทับถมของตะกอนใหม่ ต้องมีการขุดลอกเพิ่มทุกๆ ปี แล้วนำไปทิ้งในทะเลที่เสมือนส้วมของจังหวัดสตูล
โดยทิ้งดินเฉลี่ยสูง 1.0 เมตร และพื้นที่ทิ้งตะกอนจากการขุดลอกบำรุงรักษาร่องน้ำในระยะดำเนินการ กำหนดให้ทิ้งในทะเล บริเวณห่างจากพื้นที่โครงการไปทางทิศตะวันตกประมาณ 7.5 กิโลเมตร นั่นหมายถึง ต้องเสียพื้นที่หน้าดินในท้องทะเลเป็น 2 เท่าของเนื้อที่ของโครงการ หรือประมาณ 584 ไร่
6. ท้องถิ่นสตูล ต้องรับภาระจัดการของเสีย กำจัดขยะจากกิจกรรมของท่าเรือ โดยเอกสารกรมเจ้าท่า ระบุให้ องค์การปกครองท้องถิ่น (อบต.) และรวมถึง อบจ. เป็นหน่วยงานที่ต้องรับภาระในการกำจัดขยะ ของเสีย ที่ทิ้งขยะที่จะเกิดขึ้นจากกิจกรรมของท่าเทียบเรือ โดยไม่ระบุว่าจะจัดการอย่างไร หรือกำจัดอย่างไร รวมทั้งขยะมีพิษที่เกิดขึ้นด้วย
7. โครงการก่อสร้างระยะที่ 1 จะใช้ ทรายถมจำนวน 10 ล้านคิวบิกเมตร หมายความว่า คนบ่อเจ็ดลูกต่อเนื่องไปถึงแหลมสน และคนปากละงู – หัวหิน จะต้องขุดที่ดินทรายขายให้โครงการ แหล่งละครึ่งหมู่บ้าน หากเปรียบเทียบกับการขนด้วยรถบรรทุก ที่บรรทุกได้ คันละ 30 คิว จะต้องใช้รถบรรทุกขนทรายมาที่ปากบาราจำนวน 330,000 คัน (สามแสนคัน) ในทุกครึ่งนาที จะมีรถบรรทุกทรายวิ่ง 1 คัน เป็นแบบนี้ไปตลอดเวลา 2 ปี ต่อเนื่องกันไม่มีหยุดพัก
แหล่งทรายถม 2 แห่ง คือ พื้นที่บริเวณบ่อเจ็ดลูก อ.ละงู จ.สตูล มีชั้นทรายหนาประมาณ 7 เมตร พื้นที่ประมาณ 2.2 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นทรายประมาณ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร (คิวบิกเมตร) และพื้นที่ปริเวณปากละงู บ้านหัวหิน อ.ละงู จ.สตูล มีชั้นทรายหนาประมาณ 3.5-5.0 เมตร พื้นที่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร มีทรายประมาณ 10 ลูกบาศก์เมตร (คิวบิกเมตร)
โครงการระบุว่าต้องขนทรายให้หมดภายใน 2 ปี (730 วัน) หากเปรียบเทียบการขนด้วยรถบรรทุกจำนวน 330,000 คัน ต่อ 12 ชั่วโมง จะต้องขนให้ได้ ชั่วโมงละ 38 คัน
1 ชั่วโมง มี 60 นาที ต้องขนให้หมด 38 คันรถบรรทุก เท่ากับจะมีรถบรรทุกวิ่งขนทราย 1.5 นาที ต่อหนึ่งคัน (หนึ่งนาทีครึ่ง) มีความหนาแน่นมาก ติดขัดอย่างรุนแรง...
8. แหล่งหิน1.1 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะใช้หินภูเขาในพื้นที่ อ.ควนกาหลง และ อ.ทุ่งหว้า พื้นที่ประมาณ 1,276 ไร่ ได้แก่ เขาจำปา – เขาเณร – เขาโต๊ะชั่ง เขาจุหนุงนุ้ย เขาพลู เขาละใบดำ เขาละมุ เขาลูกช้าง เขาลูกเล็กลูกใหญ่ เขาวังบุมาก มีปริมาณหินสำรองประมาณ 112 ล้านตัน หรือ ประมาณ 5,600,000 รถสิบล้อ (บรรทุกที่ นน. 20 ตัน:คัน)
ใช้ระยะที่ 1 ประมาณ 60,000 คัน
ใช้ระยะที่ 2 ประมาณ 100,000 คัน
ใช้ระยะที่ 3 ประมาณ 100,000 คัน / ที่เหลือใช้ทำทางรถไฟรางคู่ / นิคมอุตสาหกรรม / และรองรับโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม
9. ผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ ที่จะได้รับหากมีการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราจนสิ้นสุดอายุการใช้งาน 30 ปี จะได้กำไรจากเงินค่าธรรมเนียมหักค่าลงทุนแล้ว ได้ผลตอบแทน ประมาณ 5 พันล้านบาท นายถวัลย์รัฐ อ่อนศิระ อธิบดีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ให้สัมภาษณ์ วันที่ 5 เมษายน 2554 ว่างบลงทุนท่าเทียบเรือปากบารา จ.สตูล เป็นเงินจำนวน 37,479 ล้านบาท และมีรายได้เข้าประเทศจากการเก็บค่าธรรมเนียมตลอดอายุการใช้งาน 30 ปี ประมาณการแบบสูงสุด (หมายความว่าโอกาสที่จะเจ๊งก็มี) รวมทุกปีแล้วเป็นจำนวนเงินประมาณ 43,107 ล้านบาท เท่ากับได้ผลตอบแทนมากกว่าเงินลงทุน 5,628 ล้านบาท นายถวัลรัฐ อ่อนศิระ บอกว่า คุ้มมาก
ถ้าหยุดทำลายทะเลสตูล แล้วนำเงิน 37,479 ล้านบาท ไปฝากธนาคารไว้เฉยๆ ลองมาสมมติ ประเทศไทยนำเงินลงทุนจำนวน 37,479 ล้านบาทไปฝากธนาคารไว้เฉยๆ ไม่ต้องถอน คิดอัตราตอบแทนเงินฝาก ร้อยละ 3 ต่อปี ถ้าเงินฝาก 100 บาท ได้เพิ่มมา 3 บาท ถ้าเงินฝาก 10,000,000,000 บาท (หนึ่งหมื่นล้านบาท) จะได้เงินตอบแทน เพิ่มมา 300 ล้านบาท เฉยๆ ถ้าเอาเงินที่ต้องลงทุนสร้างท่าเรือไปฝากธนาคารจำนวน 37,479 ล้านบาท จะได้ผลตอบแทนเงินฝากประมาณ 1,124 ล้านบาทต่อปี คิดอัตราตอบแทนเงินฝากคงที่ 1,124 ล้าน X 30 ปี = 33,731 ล้านบาท
คราวนี้ ลองวิธีการที่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไปต้องคิดเพื่อจ่ายค่าตอบแทนเงินฝาก ต่อปี โดยมีวิธีการคิด คือ เงินต้น + ผลตอบแทนปีที่ 1 x อัตราผลตอบแทนต่อปี = ผลตอบแทนของปีที่สอง (คือ) 37,479,000,000 + 900,000,000 x อัตราตอบแทนร้อยละ 3 = 1,575 ล้านบาท คิดต่อไปเรื่อยๆ จะได้เงิน เมื่อครบ 30 ปี เท่ากับ 91,073,970,000 บาท (เก้าหมื่นหนึ่งพันเจ็ดสิบสามล้าน เก้าแสนเจ็ดหมื่นบาท) = 90,000 ล้านบาท
เลือกอย่างไหนระหว่าง ได้เงินค่าธรรมเนียมท่าเทียบเรือประมาณ 5 (ห้า) พันล้านบาท กับ ฝากธนาคารไว้เฉยๆ ได้เงินประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ในเอกสารโครงการบอกว่า จะได้ 269,000 ล้านบาท คิดเฉพาะประมงปีละ 20,000 ล้าน ได้ 180,000 ล้านบาท
10. เปรียบเทียบกับกรณีท่าโครงการท่าเทียบเรือสงขลา 1 ก่อสร้างเมื่อมิถุนายน 2528 เสร็จเมื่อ เมษายน 2531 ใช้งบประมาณ 562 ล้านบาทในพื้นที่ 72 ไร่ ยื่นออกไปตรงปากทะเลสาบ 510 เมตร กว้าง 30 เมตร มีร่องน้ำลึก 9 เมตร รับสินค้าสูงสุด 1,100,000 ตัน/ปี รับเรือขนาด 9,000 – 20,000 ตัน ขุดลอกร่องน้ำ 4 กิโลเมตรทุกปีๆ ละ 5-6 แสนลูกบาศก์เมตร สร้างเขื่อนกันคลื่น 500 เมตร และในปี 2546 ขยายเขื่อนออกไป 450 เมตร
ก่อนปี 2528 ชาวประมงพื้นบ้าน 180 ครัวเรือนใช้เครื่องมือหลัก 4 ชนิด (อวนลอย บาม เบ็ด และแห) หากินสลับเครื่องมือได้ตลอดทั้งปี จับสัตว์น้ำเศรษฐกิจกว่า 30 ชนิด และเลี้ยงปลากระชังมากกว่า 200 กระชัง และถูกเวนคืนออกจากพื้นที่ ปริมาณสารปิโตรเลี่ยมไอโดรคาร์บอนบริเวณปากทะเลสาบสงขลา สำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 มีในปริมาณ 5.15 ไมโครกรัม/ลิตร แบะเดือนพฤษภาคม 2552 มีในปริมาณ 3.64 ไมโครกรัม/ลิตร ซึ่งเกินมาตรฐาน!
ที่มา : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
