
โลมาในทะเลสาบสงขลา
โลมา เป็นสัตว์โลกอีกชนิดหนึ่ง ที่มีความผูกพันกับมนุษย์มากที่สุด และกลายเป็นตัวเอก ในภาพยนตร์ หลายต่อหลายเรื่อง แต่ชีวิตจริงโลมาทั่วโลก โดยเฉพาะโลมา ในน่านน้ำไทย กำลังถูกคุกคาม และอยู่ในสภาวะวิกฤติ สาวิตรี ศิรสุขประเสริฐ เล่าเรื่องโลมาหัวบาตร แห่งทะเลสาบลำปำ จังหวัดพัทลุง ณ ทะเลสาบสงขลา อาณาเขตแห่งคลื่นน้ำลูกเล็กที่โยนตัวไปตามความพลิ้วไหวของกระแสลมอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไป ของชีวิตน้อยใหญ่ ที่ต่างอาศัยลุ่มน้ำแห่งนี้เป็นที่พักพิง
ด้วยอาณาเขตที่กว้างใหญ่ถึง 636,800 ไร่ บวกกับความหลากหลายทางนิเวศวิทยาทั้งน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ทะเลสาบสงขลา จึงเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ที่สมบูรณ์แห่งหนึ่ง โดยเฉพาะความหลากหลายของสัตว์น้ำ ซึ่งทางตอนในของทะเลสาบสงขลา หรือที่เรียกขานอย่างเป็นสัดส่วนว่าทะเลสาบลำปำ ในเขตจังหวัดพัทลุง ได้มีเพื่อนเลือดอุ่นตัวสำคัญ เข้ามาอาศัยอยู่เป็นเวลานาน
"โลมาหัวบาตร" คือชื่อของเพื่อนร่วมเวิ้งน้ำแห่งนี้ ทุกๆ เช้าเจ้าหน้ากลมตัวสีเทาฟ้าจะออกมากระโดดรับอรุณแห่งวันใหม่เสมอ บางครั้งถึงกับว่ายคลอเคลีย กับเรือของชาวประมงอย่างเป็นมิตร
เอื้อน ยั่งยืน คุณลุงวัย 66 ปี เล่าถึงเพื่อนร่วมลำปำว่า ตอนเด็กๆ จะเห็นโลมาหัวบาตรชุกชุมมาก โดยเฉพาะช่วงเวลา 07.00 - 08.00 นาฬิกา ที่พวกมันจะออกมาเล่นน้ำ เวลาลุงเอื้อนพายเรือออกไป มันจะว่ายวนอยู่ใกล้ๆ พอเอาพายเคาะข้างเรือ มันก็จะกระโดดขึ้นเหนือผิวน้ำเหมือนกับว่าตอบรับสัญญาณจากคุณลุง
ความคุ้นเคยระหว่างเพื่อนร่วมสังคมน้ำจืดนี้เกิดขึ้นมาเนิ่นนาน พอจะคาดเดาได้ว่าเจ้าหัวหมอนได้เข้ามาอาศัยในทะเลสาบลำปำหลายชั่วอายุคนแล้ว ดังจะเห็นได้จากนิทานพื้นบ้านพัทลุงเรื่อง 'นายแรง' ที่อธิบายภูมิประเทศ สัตว์ป่า และสัตว์น้ำในจังหวัดพัทลุง และสงขลา มีตอนหนึ่งกล่าวถึงโลมาว่า "พ่อแม่นายแรงคิดฆ่าลูก เพราะนายแรงกินอาหารมากจนรับเลี้ยงต่อไปไม่ไหว ครั้งหนึ่งที่หลอกให้ไปตัดฟืน และพ่อโค่นต้นไม้ให้ล้มทับแต่ไม่สำเร็จ ครั้งที่สองจึงฝากนายแรงให้ไปกับเรือสำเภา ให้นายสำเภาหลอกทิ้งทะเล เมื่อเรือสำเภาแล่นถึงกลางทะเลลำปำ นายสำเภาเห็นฝูงโลมาจึงบอกให้นายแรงลงจับโลมา และก็แล่นเรือหนีไป แต่นายแรงโชคดีที่ได้พบเรือจมอยู่ใต้ทะเล จึงกู้เรือพายกลับบ้านได้..."
จากตอนนี้ของนิทานแสดงให้เห็นว่าคนโบราณได้พบโลมาในทะเลสาบมานานแล้ว แต่คิดเห็นเกี่ยวกับโลมาต่างๆ กันไป บ้างก็เรียกว่าเจ้าแม่คงคา บ้างก็เปรียบเสมือนเพื่อนร่วมชีวิตในยามออกทะเล ชาวประมงเชื่อว่าถ้าใครคิดทำร้ายโลมาจะทำมาหากินไม่เจริญรุ่งเรือง
เพื่อนที่คุ้นเคยแต่ไม่รู้จัก
จากการบอกเล่าของชาวทะเลสาบ แสดงให้เห็นว่าในอดีตมีโลมาเป็นจำนวนมาก บางฝูงมีประมาณ 40 ตัว และมีอยู่หลายฝูงด้วยกัน แต่ด้วยความไม่รู้ ชาวบ้านบางคนก็เรียกมันว่า 'ปลาวาฬ' บางครั้งที่มีการพบศพ จึงมักพูดต่อๆ กันไปว่าเป็นศพวาฬบ้าง พะยูนบ้าง นางเงือกบ้าง เนื่องจากการส่งข่าวที่ไม่ทั่วถึงในอดีต และด้วยความเคยชิน ชาวประมงจึงเห็นว่าเป็นเพียงปลาธรรมดาแบบปลาชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่มากมายในทะเลสาบ
จากลักษณะหัวกลมๆ และรูปร่างเหมือนหมอนหนุนของมัน ชาวลำปำส่วนมากจึงมักเรียกมันว่า 'หัวหมอน' จนกระทั่งปี พ.ศ.2533 ได้มีการเข้ามาสำรวจของนักวิชาการ ชื่อ 'โลมาหัวบาตร' หรือ 'โลมาอิระวดี' จึงเป็นที่รู้จักมากขึ้น
การศึกษาแสดงให้เห็นว่าโลมาชนิดนี้ชอบอยู่ในน้ำจืด และสามารถอาศัยอยู่ในน้ำกร่อย และน้ำเค็มได้ โดยจะอาศัยอยู่ตามชายฝั่งบริเวณปากแม่น้ำ แม้ว่าโลมาจะสามารถเดินทางเข้าออกระหว่างทะเลสาบกับอ่าวไทยได้ แต่โลมาในทะเลสาบลำปำจะไม่เดินทางออกสู่ทะเล เพราะบริเวณนี้เต็มไปด้วยเครื่องมือประมงจำนวนมาก และเมื่อมีการติดอวนตายเกิดขึ้น โลมาก็จะไม่เดินทางไปยังบริเวณที่มีอันตรายอีก
ส่วนทางด้านเหนือของทะเลสาบซึ่งมีคลองปากระวะเชื่อมต่อกับทะเล ก็ได้มีการสร้างเขื่อนปากระวะขวางทางเดินของน้ำเค็มไม่ให้เข้าสู่ทะเลสาบ ทำให้ปัจจุบันโลมาอิระวดีที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบไม่สามารถเดินทางออกสู่ทะเลได้โดยสิ้นเชิง มันจึงกลายเป็นโลมาน้ำจืดไปโดยปริยาย และมีผู้สนใจศึกษาโลมาในทะเลสาบสงขลามาก ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ
ทำความรู้จักเพื่อคุ้นเคย
"โลมาอิระวดี" (พบครั้งแรกในลุ่มน้ำอิระวดี ประเทศพม่า) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า 'โลมาหัวบาตร' ด้วยลักษณะที่คล้ายคลึงกันมาก ต่างกันเพียงโลมาอิระวดีมีครีบหลังแต่โลมาหัวบาตรไม่มี ในปัจจุบันสามารถพบโลมาชนิดนี้ในทะเลสาบน้ำจืด และน้ำกร่อยได้เพียง 2 แห่งในโลกเท่านั้น คือในทะเลสาบชิลก้า ประเทศอินเดีย และทะเลสาบสงขลา ในประเทศไทย
บริเวณที่เจ้าหัวหมอนจะออกมาให้พบเห็นบ่อยๆ คือ บริเวณตรงร่องกลางทะเลสาบที่มีความลึกประมาณ 2.4-4 เมตร ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะใหญ่ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านลำปำ ตรงบริเวณที่เรียกว่า 'ลับห้า' คือ ตรงที่เกาะใหญ่บดบังเกาะสี่เกาะห้ามิดพอดี
โลมาหัวบาตร มีลำตัวสีเทาอมฟ้า บางตัวสีดำอมเทา ส่วนท้องจะมีสีจาง เจ้าหัวบาตรเป็นสัตว์น้ำที่วิวัฒนาการมาจากสัตว์บก มันจึงใช้ปอดในการหายใจ และมีรูจมูกอยู่บนหัวที่กลมทุยคล้ายบาตรพระของมัน
เจ้าหัวกลมมีตาขนาดเล็กอยู่ใกล้กับริมฝีปาก มีจะงอยปากที่สั้นมากจนเกือบมองไม่เห็น ลำคอของมันใหญ่ และสามารถหมุนได้ทุกทิศทาง ครีบอกใหญ่ปลายมน มีกระดูกเรียงคล้ายนิ้วมือคนมาก ส่วนแพนหางไม่มีกระดูกเช่นเดียวกับวาฬ และพะยูน
โลมามีตา หู จมูก และลิ้นเหมือนคนเรา มันจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดในที่โล่ง และน้ำตื้น แต่เนื่องจากโลมาไม่มีตาอยู่ด้านหน้าจึงไม่สามารถกะระยะทางได้ดีนัก เมื่ออยู่ใต้น้ำ จมูกของโลมาจะปิด ดังนั้นมันจะไม่ได้กลิ่นอะไรเลย แต่ลิ้นสามารถรับรสจากสารเคมีในน้ำได้ดี การรับเสียงด้วยคลื่นสะท้อนแบบเรดาร์ของโลมา ใช้ล่าเหยื่อ และรู้วัตถุหรือลักษณะภูมิประเทศใต้น้ำได้เป็นอย่างดี ทั้งยังส่งเสียงสื่อสารกับโลมาตัวอื่นได้ด้วย
โลมาจะอยู่กันเป็นฝูงเนื่องจากเป็นสัตว์สังคม มันจึงมีนิสัยพึ่งพาอาศัยกัน ช่วยกันล้อมฝูงปลาในการหาอาหาร ช่วยกันต่อสู้เมื่อมีศัตรู เช่น ฉลาม และช่วยพยาบาลเพื่อนที่บาดเจ็บด้วยการใช้ปากคาบครีบหามเพื่อนขึ้นหายใจเหนือน้ำ และบางครั้งมันได้เผื่อแผ่ความมีน้ำใจให้กับเรา มีผู้เล่าอยู่เสมอว่าถ้าเรืออับปาง โลมาจะช่วยพยุงคนที่จมน้ำให้รอดชีวิตได้ โดยการให้คนเกาะหลัง และว่ายพาเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย แต่ห้ามถูกต้องนมโลมาโดยเด็ดขาด เพราะมันจะสะบัดหลุดและว่ายน้ำหนีไปทันที
เมื่อเจ้าหัวกลมมีความรัก
สมเสริม ชูรักษ์ อาจารย์สอนวิชาสังคม โรงเรียนสตรีพัทลุง ผู้จัดทำหนังสือเสริมประสบการณ์ท้องถิ่นเรื่องโลมาหัวบาตร เล่าให้ฟังถึงพฤติกรรมเจ้าหัวบาตรหนุ่มว่า ในการเลือกคู่ตัวผู้จะต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงตัวเมีย ด้วยการใช้หัวชนหรือกัดกัน แต่ในการเกี้ยวพาราสี พ่อหนุ่มหัวกลมจะอ่อนโยนขึ้นมาทันที โดยมันจะทำเสียงผิวปากหรือร้องเรียกบอกรัก และว่ายน้ำไล่ตามตัวเมีย พร้อมกับแสดงความสามารถในการกระโดดน้ำ และดำน้ำเพื่อดึงดูดความสนใจ จากนั้นจะว่ายน้ำเคียงคู่กันไปพร้อมกับใช้หัวบาตรของมันเคล้าเคลียตัวเมียไปด้วย
บางครั้งมันจะอวดพลกำลังของมันเพื่อให้สาวเจ้าสนใจ ก่อนจะจบลงด้วยการขึ้นมาที่ผิวน้ำเพื่อผสมพันธุ์กันเป็นคู่ๆ โลมาหัวบาตรจะผสมพันธุ์ไม่เป็นฤดูกาล แต่ฤดูที่พบบ่อยๆ ว่ามีการอยู่เป็นคู่ และมีพฤติกรรมการผสมพันธุ์ คือ ในฤดูหนาวหรือฤดูฝน
หลังจากความรักลงเอย จากนั้นราว 9 เดือน แม่โลมาจะให้กำเนิดพยานรักเป็นของขวัญแก่ท้องทะเลสาบ แต่ของขวัญตัวนี้อาจจมน้ำตายได้ทันทีเพราะมันไม่มีอากาศในปอด หน้าที่จึงตกไปอยู่ที่เพื่อนๆ ของแม่โลมาที่จะต้องช่วยกันทำคลอด และใช้หัวดุนเจ้าหัวบาตรน้อยขึ้นไปเหนือน้ำเพื่อสูดอากาศเป็นครั้งแรก จากนั้นลูกโลมาจะคลอเคลีย และอิ่มอุ่นด้วยนมแม่เป็นเวลา 1 ปีครึ่ง จึงสามารถออกผจญภัยได้ด้วยตัวเอง
การถือกำเนิดของชีวิตใหม่นี้กลับไม่ใช่เรื่องน่ายินดีได้เต็มร้อยอีกต่อไป เนื่องจากจำนวนโลมาหัวบาตรที่ลดลงอย่างน่าวิตก จากกว่าร้อยตัวในอดีตเหลือเพียงไม่ถึง 30 ตัวในปัจจุบัน การผสมพันธุ์เลือดชนิดในฝูงเดียวกันจึงทำให้ทายาทตัวใหม่ไม่สมบูรณ์เต็มที่
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้จำนวนโลมาลดลง ?
คำถามนี้อาจทำให้ชาวประมงต้องน้ำตาตกใน เพราะ 'อวน' เครื่องมือยังชีพของพวกเขานั่นเองที่ปลิดชีวิตเพื่อนร่วมทะเลสาบไปเป็นจำนวนมาก
แม้จะด้วยความไม่ตั้งใจ แต่เครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นบวกกับจำนวนสัตว์น้ำที่ลดลง ทำให้โลมาต้องเข้าใกล้อวนเพื่อกินกุ้ง และปลาที่ติดอยู่กับอวน บางครั้งเจ้าหัวบาตรที่น่าสงสารจึงถูกพันธนาการไว้ด้วย และนั่นมักเป็นจุดจบของชีวิตมัน เพราะโลมาต้องขึ้นมาหายใจเหนือผิวน้ำทุกๆ 70 - 150 วินาที การติดอยู่กับอวนทำให้มันขึ้นมาหายใจไม่ได้ และการดิ้นรนให้หลุดก็ยิ่งทำให้มันเหนื่อยอ่อน และหมดลมหายใจเร็วขึ้น
บางครั้งโลมาก็ตายโดยไม่ทราบสาเหตุแล้วลอยขึ้นมาเกยตื้นที่ชายฝั่ง มีการสังเกตว่าอาจเป็นเพราะความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความเค็มของน้ำทะเลหนุนในทะเลสาบตอนบน เพราะน้ำจืดที่น้อยลงเนื่องจากการทำลายป่าไม้ ฝนแล้งจัด และการสร้างอ่างเก็บน้ำ เหมือง ฝาย ที่มีมากในเขตจังหวัดพัทลุง ทำให้ในทะเลสาบมีน้ำจืดไม่เพียงพอต่อระบบนิเวศน์ บางปีความแปรปรวนของกระแสน้ำอาจรวดเร็วจนโลมาไม่สามารถปรับตัวได้ทัน
นอกจากนี้ น้ำเสียจากนากุ้ง สารเคมีจากโรงงาน ตลอดจนขยะจากชุมชนจะถูกปล่อยลงสู่ทะเลสาบ เจ้าบ้านอย่างโลมาหัวบาตรที่ชอบน้ำสะอาด และอากาศที่บริสุทธิ์จึงไม่สามารถทานทนต่อสภาพการณ์นี้ได้ การเสียชีวิตของโลมาจึงเป็นสิ่งที่ตามมาในระยะหลัง
การตายของเพื่อนทำให้ชาวพัทลุงไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ หลายคนจึงออกมารวมตัวกันเพื่อตั้งชมรมเพื่อเจ้าหัวบาตรโดยเฉพาะ เช่น ชมรมรักโลมาที่มีจุดประสงค์ร่วมกันที่จะได้เห็นโลมามีชีวิตที่กระโดดโลดเล่นอย่างมีความสุขตามธรรมชาติและเพิ่มจำนวนขึ้น
พรรณชาติ บัวแก้ว ประธานชมรมรักโลมากล่าวถึงความหวังเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ว่า พวกเขาจะทำทุกอย่างให้โลมาสูญพันธุ์ไปช้าที่สุด จากในอีก 10-20 ปีข้างหน้าให้ยืนยาวเป็น 100-200 ปี เพื่อให้คนรุ่นหลังๆ ได้เป็นเพื่อนกับเจ้าหัวบาตรต่อไป
การดำเนินการหนึ่งของชมรม คือ พยายามเรียนรู้ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับโลมาหัวบาตรให้มากที่สุด แต่การศึกษายังเป็นไปได้ช้าเนื่องจากความไม่พร้อมด้านเครื่องมือต่างๆ และไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ทำให้ข้อมูลที่ได้ยังไม่สามารถจะอธิบายชีววิทยาของโลมาในทะเลสาบสงขลาได้
แต่สิ่งหนึ่งที่พร้อมเต็มที่คือ กำลังใจของชาวเมืองพัทลุงที่ร่วมใจกันช่วยเจ้าหัวบาตร ชาวประมงเพื่อนผู้ใกล้ชิดยินดีเปลี่ยนขนาด และชนิดเครื่องมือหาปลาเพื่อเป็นอันตรายต่อเจ้าหัวหมอนน้อยลง ชมรมต่างๆ ร่วมกันรณรงค์ และจัดกิจกรรมเพื่อเจ้าโลมา เช่น โครงการ Think Earth ที่เน้นอนุรักษ์โลมาควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้ และจินตนาการของเด็กๆ และการให้เกียรติของคนเมืองลุงที่ยกย่องให้เจ้าหัวกลมเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัด
โลมาหัวบาตรถือเป็นสัตว์ที่ยิ่งใหญ่ เพราะหากไม่มีพวกมันทะเลสาบลำปำอาจถูกย่ำยีมากกว่านี้ ชีวิตเจ้าหัวบาตรและชีวิตของลำน้ำจึงมีความเกี่ยวโยงกันอยู่อย่างขาดไม่ได้ และความสมดุลของทั้งสองสิ่งก็หมายถึง 'ชีวิตของชาวลำปำ' ที่ฝากไว้กับท่วงทำนองแห่งกระแสน้ำนี้ด้วย
พรุ่งนี้...เจ้าหัวกลมคงออกมากระโดดดีใจที่มันได้มีชีวิตยืนยาวเพื่ออาบไออุ่นของตะวันเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งวัน และยิ่งกระโดดดีใจเป็นสองเท่าที่ได้รู้ว่ายังมีสายตาของเพื่อนที่ห่วงใยคอยดูแลมันอยู่
ที่มา http://www.dmcr.go.th/marinecenter/mesonyx/mesonyx-Irrawaddy.php
